การเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยอาสาสมัคร ได้ช่วยกันซ่อมแซมแผงโซล่าเซลส์ ให้กับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน "บ้านห้วยแห้ง" และ "บ้านหลังป่าข่า" ให้อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน?พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการทดสอบและติดตั้งหลอดไฟ LED ขนาด 12 โวลต์ เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน โดยนำร่องติดตั้งที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน และบ้านประธานชุมชน หากผลการใช้งานมีประสิทธิภาพดี จะได้ขยายผลไปยังชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านต่อไป , การมอบทีวี ฝาพับแบบพกพา และเครื่องเสียงขนาดกำลังไฟ 12 โวลต์ เพื่อใช้ในกิจกรรมของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "บ้านหลังป่าข่า" และกิจกรรมของหมู่บ้านหลังป่าข่า , การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเสาสัญญาณวิทยุสื่อสาร พร้อมอุปกรณ์ที่เนคเทคได้ติดตั้งไว้ที่สถานีฝนหลวงเรดาร์ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบไว้ให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างครูในแต่ละศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่อยู่ในสังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการประชุมหารือ และวางแนวทางการดำเนินงานร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้านห้วยแห้ง และหมู่บ้านหลังป่าข่า
บ้านห้วยแห้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 17 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2544 ได้รับงบประมาณสนับสนุนก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์ จากมูลนิธิคาร์ฟู (ประเทศไทย) และองค์กรยูเนสโก โดยผ่านโครงการส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีงบประมาณ 2544 บ้านห้วยแห้ง ได้จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร กศน. 2551 จัดการศึกษาสายสามัญ จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมรู้หนังสือ ปัจจุบันมีนายปริยัติ สรณะรังสรรค์ และนางสาวจิราวรรณ์ ชุมศรี เป็นครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยแห้ง? บ้านหลังป่าข่า แต่เดิมชื่อศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาบ้านหลังป่าข่า ได้ริเริ่มจากโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทางอำเภออมก๋อย และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ ได้คัดเลือกหมู่บ้านหลังป่าข่า เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการจัดการ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยได้ส่งนางสาววรลักษณ์ วงค์วาร มาเป็นครูผู้สอน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 เปิดสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาล 1 โดยปัจจุบันมีเด็กนักเรียนทั้งหมด 41 คน เด็กนักเรียนจากหมู่บ้านอื่นอีก 14 คน มีครู 2 คน บ้านหลังป่าข่า มีประชาชน 259 คน รวม 62 ครอบครัว 50 หลังคาเรือน ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา?แม่ฟ้าหลวง? บ้านหลังป่าข่า ได้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์การเรียน ให้เป็นอาคารเรียนแบบถาวร โครงไม้จริง พื้นเทซีเมนต์ ก่ออิฐบล๊อคสูง 1 เมตร โดยรอบ ผนังไม้ตีสลับเพื่อให้เกิดช่องว่างในการระบายอากาศและให้แสงสว่างในอาคารเรียน ขนาด 7 x 16 เมตร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารจาก มูลนิธิโนบูโก๊ะ จิมโบ้ แก้ววงศ์