งานมหกรรมความรู้ หรือ OKMD Knowledge Festival เป็นงานมหกรรมความรู้ครั้งสำคัญของประเทศไทย จัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ OKMD ร่วมกับหน่วยงานภายในทั้งสามแห่ง ได้แก่ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park), ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพคนไทยให้สามารถพัฒนาและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้หัวข้อ ?ความรู้ คือ โอกาส (Knowledge is Opportunity)? มุ่งกะเทาะความรู้ใหม่ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันจากนักคิดผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ
นายทรงศักดิ์ เปรมสุข เผยถึงความหมายของ ?ความรู้คือโอกาส? ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานในปีนี้โดยระบุว่า เป้าหมายของ OKMD คือการเตรียมเยาวชนและคนรุ่นใหม่สู่ความเป็นมืออาชีพที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ด้วยการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยแก่เยาวชนไทย เนื่องจากการส่งเสริมให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีความรู้จะทำให้พวกเขามองเห็นโอกาส โดยเฉพาะโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต และสามารถเดินเข้าหาโอกาสนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
?ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเอาจริงกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา พร้อมๆ ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพคน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืน?
ในส่วนของเป้าหมายการจัดงานมหกรรมความรู้ 2556 นายทรงศักดิ์ เปรมสุข เผยว่า ?มีเจตนาจะฉายภาพให้ผู้เข้าร่วมงานมีความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมี ?การลงทุนทางปัญญา? ด้วยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย สามารถเข้าถึงได้สะดวก มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ? โดยภายในงานมหกรรมความรู้ 2556 มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่
- การเสวนาวิชาการโดยนักคิดและนักสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับกระแสและแนวโน้มที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ ในหัวข้อ
- มองอนาคต...พลิกโฉมการศึกษาคนรุ่นใหม่ โดย มร.เรย์มอนด์ ราวาเกลีย (Raymond Ravaglia) รองคณบดีและผู้อำนวยการ Stanford Pre-Collegiate Studies
- IT และ Social Media เปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร โดย ดร.ริชาร์ด บารานิค (Dr. Richard Baraniuk) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการการศึกษาแบบไร้พรมแดน Connexions and OpenStax College มหาวิทยาลัยไรซ์ และ แดริน (แด ยุน) ฮวัง ผู้จัดการของไลน์ แห่ง ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น และ หัวหน้าฝ่ายงานขายและปฏิบัติการ ไลน์ ประเทศไทย
- เจาะกลยุทธ์การสื่อสารเบื้องหลังปรากฏการณ์พันล้าน โดย วรพันธ์ โลกิตสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด สมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ นพรัตน์ พุทธรัตนมณี รองประธานการจัดการแข่งขัน Thai Fight บริษัท สปอร์ต อาร์ต จำกัด
- เปิดกลยุทธ์อ็อกซ์ฟอร์ด: สร้างผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.ลาลิต โจรี่ (Dr. Lalit Johri) ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารและพัฒนาผู้นำขั้นสูง มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
- แหล่งเรียนรู้ในโลกดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของความรู้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดย ดร.สิริกร มณีรินทร์ กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และประธานอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ดร. ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ Dr. George Abonyi จาก Syracuse University
- การจัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจของแหล่งเรียนรู้ชั้นนำระดับโลกที่มีผลต่อการปรับโฉมการพัฒนาประเทศ ผลงานของ OKMD และหน่วยงานภายในทั้ง TCDC, TK Park และ NDMI (หรือที่รู้จักกันในนาม Museum Siam) รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้การผลักดันของ OKMD และหน่วยงานพันธมิตร
- การจัดฉายภาพยนตร์ ?สารคดีพิเศษ สตีฟ จ๊อบส์? โดย ทรู วิชั่นส์ และ เรื่อง ?โคโค ชาแนล แอนด์ อิกอร์ สตราวินสกี้?
ทั้งนี้ เวทีเสวนามีกำหนดจัดรวม 2 วัน คือ วันที่ 3-4 ธันวาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 ? 17.30 น. ณ โรงภาพยนตร์ IMAX สยามพารากอน ส่วนการแสดงนิทรรศการจัดขึ้น ณ บริเวณชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามค้าพารากอน โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 3-9 ธันวาคม 2556 รวมทั้งสิ้น 7 วัน และจะมีการสรุปถอดองค์ความรู้ที่ได้จากการสัมมนาเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป