สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อันมีผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดสิ้นสุดสมาชิกภาพ ซึ่งก่อนหน้านั้น 1 วัน สส.ซีกฝ่ายค้านได้ประกาศลาออก ทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วง วันที่ 22 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2557 ท่าทีของภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่า การยุบสภาน่าจะลดความกดดันทางการเมืองในช่วงที่อยู่ “ปากเหว” เนื่องจากการชุมนุมในวันที่ 9 ธันวาคม 56 มีประชาชนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก การเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ก็น่าจะเป็นการลดความกดดัน และลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับท่าทีของ กปปส.ซึ่งดูเหมือนว่ายังต้องการกดดันให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ ลาออก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบสภาประชาชน ซึ่งก็ยังไม่รู้แนวทางว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ก็คงต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลรักษาการว่าจะดำเนินการตามที่ กปปส.ต้องการหรือไม่ รวมถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ภาพของการเมืองไทยจะเดินไปอย่างไร คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดคะเน แต่ที่แน่คือต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในอีกไม่เกิน 60 วันข้างหน้า
ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ การยุบสภาในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดของภาคเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็รู้ทิศทางของการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงรอการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนได้เอง เนื่องจากเศรษฐกิจจริงอยู่ที่ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน รัฐบาลเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาลรักษาการจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น
1. ด้านการส่งออก ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อีกไม่ถึง 1 เดือน คงทำอะไรไม่ได้มาก ตัวเลขการส่งออกคงขยายตัวในเชิงดอลลาร์ได้ไม่เกินร้อยละ 0-0.25 แต่ในเชิงเงินบาทอาจติดลบร้อยละ 3.5-3.8 ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ทิศทางของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณทางบวก จากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในเดือน พ.ย. ขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 สหภาพยุโรปร้อยละ 1.2 และญี่ปุ่นร้อยละ 1.8 แต่ผู้นำเข้ายังมีปัญหาด้านสถาบันการเงิน ทำให้ออเดอร์ในช่วงต้นปียังคงไม่มากนัก การส่งออกในช่วง ไตรมาสแรกอาจทรงตัวด้วยตัวเลขการส่งออกประมาณเดือนละ 20,500-21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการส่งออกในปี 2557 จะขยายตัวได้ร้อยละ 7.0 ตามที่ สศช.ได้ประเมินไว้หรือไม่
2. การลงทุน ของภาคเอกชนในช่วงนี้จนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า คงจะรอดูท่าทีของการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ โดยที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนติดลบมาโดยตลอด สาเหตุทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาการเมืองในประเทศ โดยในไตรมาส 3 การลงทุนติดลบถึงร้อยละ 6.5 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเองก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย สศช.คาดว่าการลงทุนในปีนี้ทั้งปี คงขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 0.9 ส่วนปีหน้า จะขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 ตามเป้าหมายได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร
3. การบริโภคภายใน ในช่วงสิ้นปีซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ การบริโภคภายในอาจไม่ขยายตัวมากนัก เพราะสะท้อนจากตัวเลขเดือน พ.ย. ซึ่งขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดย สศช.คาดการณ์ว่าในปี 2556 การบริโภคจะสามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.6 จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.5 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2557 การบริโภคภายในน่าจะได้อานิสงส์จากค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้ง ทั้งจากค่าใช้จ่ายด้านการหาเสียง รวมทั้งเงินนอกระบบอีกหลายหมื่นล้าน ที่จะเข้าถึงมือรากหญ้า ซึ่งจะช่วงขับเคลื่อนการบริโภคภายในได้บ้าง แต่ปัจจัยสำคัญจะต้องติดตามการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปัญหา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ไปคงจะไม่มี
4. การใช้จ่ายของรัฐบาล เครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า จะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2556 ที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 470,568 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.87 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ร้อยละ 24.6 ของงบประมาณรวม และยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 15.2 แสดงว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองมีผลต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาล
ข้อวิตกของภาคเอกชนในช่วงสุญญากาศของรัฐบาลรักษาการ จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมีการล่าช้า โดยเฉพาะเงินค้างของเกษตรกรจากโครงการจำนำข้าว และโครงการประชานิยมต่างๆ เนื่องจากรอดูทางทีทางการเมือง อีกทั้ง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบแต่ละกระทรวงคงให้ความสำคัญต่อสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการเบิกจ่ายของรัฐให้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายใน นอกจากนี้ หลังการเลือกตั้ง กว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็คงใช้เวลา โดยเฉพาะหากกระแสการเมืองทำให้เสียงของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ก้ำกึ่งกัน ก็จะยิ่งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องใช้เวลามากขึ้น และไม่ว่าจะซีกพรรคการเมืองฝ่ายใดเข้ามาเป็นรัฐบาล การใช้งบประมาณก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้ง หากฝ่ายซีกตรงข้ามเข้ามาเป็นรัฐบาล คงต้องรื้อโครงการต่างๆ ใหม่หมด นอกจากนี้ โครงการ พ.ร.ก.น้ำ 3 แสนล้าน และหรือ พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ซึ่งมีผลอยู่ในจีดีพีปี 2557 (รวมกัน) ร้อยละ 0.5 ก็อาจขับเคลื่อนไม่ได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2557
5. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมา เมื่อบวกกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้เครื่องมือทางเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะจากภาคส่งออกและงบกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งขาดความเป็นรูปธรรมที่จะมีเม็ดเงินจริงเข้าไปสู่ระบบ อีกทั้ง การใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. 2556 จะต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 อาจได้ต่ำกว่าร้อยละ 3 แต่ภาคเอกชนคาดการณ์ว่าอาจจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8
สำหรับปี 2557 ในช่วงไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงสุญญากาศระหว่างการรอเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นสุญญากาศไปด้วย จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกต่อไปจนถึงไตรมาส 2 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สศช.ในปี 2557 ซึ่งประมาณการว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 อาจขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล
ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดๆ
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่ www.tanitsorat.com