นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยในปี 2554 สำรวจจากโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า สองในสามเป็นผู้ป่วยแท้งเอง และหนึ่งในสามเป็นผู้ป่วยทำแท้ง สำหรับผู้ป่วยทำแท้งนั้นเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุดถึงร้อยละ 28 ยังศึกษาอยู่ร้อยละ 30.4 และไม่มีรายได้ร้อยละ 45.0 ในกลุ่มผู้ที่ทำแท้งร้อยละ 71.5 เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจและร้อยละ 53.1 ไม่ได้คุมกำเนิด สาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุด้าน สังคม/ครอบครัว, ด้านสุขภาพ และสาเหตุทางด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ นอกจากนี้แล้วมีผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 20 ที่ทำแท้งด้วยตัวเอง และอีกเกือบร้อยละ 20 ที่ทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งเป็นใคร ส่งผลให้มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง และการใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด รวมทั้งผู้ป่วยอีกร้อยละ 9 ที่ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยทำแท้งร้อยละ 21.4 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบมากที่สุดคือตกเลือดมากจนต้องให้เลือดมากถึงร้อยละ 14.8
“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำยายุติการตั้งครรภ์มาใช้ภายใต้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกรณีท้องไม่พร้อม โดยองค์การอนามัยโลกได้รับรองมาเป็นเวลานานแล้วว่ายาสำหรับยุติการตั้งครรภ์เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งในแง่ความปลอดภัยของผู้ป่วยไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศไทยจะไม่นำเข้ามาใช้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานในลักษณะนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบบริการ” นายแพทย์บุญฤทธิ์ กล่าว
ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวว่า มีใครบ้างที่ตั้งใจท้องเพื่อที่จะมาทำแท้ง มีใครมีความสุขกับเรื่องแบบนี้บ้าง และหากระบบไม่มีบริการให้ ผู้หญิงก็จะลงเอยที่การทำแท้งไม่ปลอดภัย ดังนั้น แทนที่เราจะมาสอนแพทย์เหมือนเมื่อก่อนว่าการทำแท้งเป็นเรื่องบาป เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรเปลี่ยนมาเป็นการสอนที่ทำให้คิดได้ว่าสาเหตุในการของทำแท้งนั้นเกิดจากอะไร ทำไมคนๆ หนึ่งจึงไม่มีความพร้อมเหมือนคนอื่นๆ มีการหาทางออกให้แก่คนที่ทุกข์ไหม ซึ่งการเปิดโอกาสให้คนที่ท้องไม่พร้อมเดินเข้ามาสู่ระบบบริการ เป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถลดอัตราบาดเจ็บหรือการตายจากการทำแท้งเถื่อนลง การไม่มีบริการทำให้ปัจจุบันผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมหันไปสืบค้นข้อมูลและซื้อยาจากอินเทอร์เนต ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นยาจริง มีประสิทธิภาพหรือไม่ ขนาดและวิธีใช้สอดคล้องกับอายุครรภ์หรือไม่ ทำให้ส่งผลกระทบตามมามากมาย
“การที่เราทำให้ผู้ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมได้มีทางเลือก พบแสงสว่าง มีคนที่พร้อมจะเข้าใจ และพร้อมจะต้อนรับเขาให้กลับเข้ามาสู่สังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนในสังคม” ผศ. นพ.ธนพันธ์ กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะเลขากรรมการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมกล่าวว่า สายด่วน 1663 เป็นช่องทางแรกๆ ที่จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้ค้นหาทางเลือกที่จะจัดการปัญหาและมุ่งหวังว่าจะช่วยลดสถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้ง ทั้งนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องตกเลือก ต้องตัดมดลูก เพราะได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อมจึงจะเป็นช่องทางที่ช่วย ผู้รับบริการค้นหา วิเคราะห์และตรวจสอบทางเลือกต่างๆ ว่าปลอดภัยต่อผู้รับบริการอย่างแท้จริงก่อนตัดสินใจเลือก โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 09.00 - 21.00 น.