รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวในฐานะที่ทางสวนดุสิตได้มีส่วนร่วมจัดเก็บฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศให้กับโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคา LPG ภาคครัวเรือน ว่า นโยบายการปรับราคา LPG ในช่วงเวลานี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพราะหากมองถึงความต่างของราคาก๊าซใน 3 ตลาดทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการลักลอบใช้ผิดประเภท และยังรวมไปถึงการลักลอบไปขายประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มปรับราคาก๊าซภาคครัวเรือนซึ่งปัจจุบันรัฐอุดหนุนราคาขายปลีกไว้ให้มีราคาถูกที่สุด เพราะหากปล่อยราคาขายปลีกเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศขยายวงกว้างขึ้น
“ถือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมองข้ามช็อตเรื่องประชานิยมที่ทุกรัฐบาลถือเป็นสูตรต้องห้ามทางการเมืองในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการต่างๆ เพราะจะกระทบต่อฐานคะแนนเสียง และที่สำคัญรัฐได้เตรียมวางแนวทางดำเนินการไว้อย่างเป็นระบบ ด้วยการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเกี่ยวกับการปรับราคา LPG ได้อย่าง ตรงจุด คือให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนว่า ราคา LPG ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนตลาดที่ควรจะเป็น มีความชัดเจนว่า เป็นการปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันไดโดยจะทยอยปรับขึ้น 50 สตางค์/กก./เดือน ปรับไปเท่าไหร่ และปรับถึงเมื่อไหร่ โดยมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องถูกปรับขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วยังทำความเข้าใจอย่างทันการณ์และต่อเนื่อง โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อน และหลังการปรับขึ้นราคา”
รศ.ดร.สุขุมกล่าวว่า เมื่อภาครัฐเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องโดยเดินสายอบรมชี้แจงผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ตามมาคือคำถามที่ประชาชนสงสัยก็ไม่ค้างคาใจ ทำให้ไม่เกิดการประท้วง
“ประเด็นที่ประชาชนเริ่มเรียนรู้นี้เองอาจกล่าวได้ว่า เป็นความสำเร็จที่มีมากกว่าแค่การปรับขึ้นราคาก๊าซ 50 สตางค์/กก./เดือน เพราะเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้กับประชาชน ให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่นำเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซฯ ประชาชนเริ่มเรียนรู้และเข้าใจกลไกการตลาด เข้าใจวัฏจักรของราคาสินค้าต่างๆ ว่าเป็นเหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้ราคาก๊าซหุงต้ม และท้ายที่สุดก็จะเกิดการยอมรับ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะการพัฒนาประเทศต้องการเรื่องของจิตสาธารณะเข้ามาช่วยด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รอการโอบอุ้มจากภาครัฐอย่างเดียว”
นอกจากนี้ ความสำเร็จตรงนี้อาจถือเป็นแบบอย่าง (Best Practice) ให้กับหน่วยงานอื่นนำวิธีการหรือกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี อาจมีเสียงสะท้อนจากผู้มีสิทธิ์ซื้อก๊าซฯ ราคาเดิมว่า ขั้นตอนการลงทะเบียน การใช้สิทธิ์ยุ่งยากนั้น รศ.ดร.สุขุม ให้เหตุผลต่อเรื่องนี้ว่า เนื่องจากเป็นการเยียวยาที่ดำเนินการกับกลุ่มคนมีรายได้น้อยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความทั่วถึง เป็นธรรม ไม่ให้ตกหล่น และต้องมีกลไกในการป้องกันการทุจริตต่างๆ ด้วย
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า นโยบายการปรับราคา LPG แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้ปรับขึ้น แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลในการปรับแล้วก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ว่า เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้สังคม เนื่องจากมีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซ LPG และยังเพื่อลดการลักลอบไปขายผิดวัตถุประสงค์ และลดการลักลอบขายข้ามชายแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ดี ถือว่ากระบวนการสร้างความเข้าใจที่กระทรวงพลังงานดำเนินการครั้งนี้มีประโยชน์มาก เพราะเป็นการเข้าถึงผู้ปฏิบัติจริง อาทิ โรงบรรจุก๊าซฯ ร้านค้าก๊าซฯ ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงสื่อมวลชนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มสื่อท้องถิ่นมีความกระตือรือล้นและสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทำความเข้าใจเรื่องการปรับราคาก๊าซ LPG เป็นอย่างดี และยินดีจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
พร้อมกันนี้ อาจารย์นักวิชาการทั้ง 2 ท่าน ยังฝากไปยังประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ในการซื้อก๊าซฯ ราคาเดิมซึ่งยังไม่ได้มาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์ว่า ให้เร่งมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่ามองว่าเป็นแค่การปรับขึ้นราคาเพียงเล็กน้อย มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เสียเวลา แต่ควรคำนึงถึงสิทธิ์ที่เราพึงมีพึงได้มากกว่า เพราะท้ายที่สุดราคาปลายทางที่จะปรับขึ้นไปก็เป็นจำนวนเงินที่จะช่วยผู้มีสิทธิ์ลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นด้วย