การประชุม IDA ครั้งที่ 17 นี้ถือเป็นการประชุมเจรจารอบสุดท้ายเพื่อให้ได้ข้อสรุปจำนวนเงินบริจาคสำหรับการเพิ่มทุนครั้งที่ 17 โดยมีเป้าหมายที่จะระดมเงินให้ได้สอดคล้องกับแผนการใช้เงินที่กำหนดไว้ประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การขจัดความยากจน (Ending Extreme Poverty) และ 2) การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง (Promoting Shared Prosperity)
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การร่วมบริจาคเงินครั้งนี้ของประเทศไทยเป็นการยกระดับสถานะของไทยจากผู้เคยรับบริจาคเป็นผู้ให้บริจาคเป็นครั้งแรกแก่สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ” โดยได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “ในอดีตประเทศไทยเคยได้รับเงินช่วยเหลือด้่านการเงินจากสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในสาขาที่สำคัญๆ ระหว่างปี 2516-2522 (เช่น การศึกษา การเกษตร การชลประทาน เป็นต้น) และในโอกาสที่ประเทศไทยได้สามารถพัฒนาจนเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานปลางถึงสูง (Upper Middle-Income Country) และเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนอื่นๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น การที่ประเทศไทยเป็นผู้บริจาคในกองทุนพัฒนาเอเชียตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การบริจาคเงินให้แก่กลุ่มธนาคารโลกในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้เข้าไปสู่การเป็นผู้บริจาคในระดับพหุภาคีเป็นครั้งแรก โดยได้แสดงเจตจำนงเข้าร่วมบริจาคเป็นสกุลเงินบาท และมีแผนการชำระเงินแบบทยอยจ่ายเป็นระยะเวลา 9 ปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ที่เห็นชอบให้ประเทศไทยบริจาคเงินเพิ่มทุนให้แก่สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ”
นางศรีมุลยานี อินดราวาติ (Mrs. Sri Mulyani Indrawati) กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นประธานการประชุมและผู้แทนของประเทศผู้บริจาคจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นการเฉพาะเจาะจงที่ได้ยกระดับการพัฒนาจนสามารถเข้าร่วมเป็นผู้บริจาคใหม่ให้แก่สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศในครั้งนี้ด้วย
สำหรับประโยชน์ของการเข้าร่วมบริจาคของประเทศไทยในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกแล้ว ประเทศไทยจะได้รับสิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้บริจาคซึ่งจะมีส่วนในการร่วมกำหนดนโยบายให้แก่สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศของกลุ่มธนาคารโลกให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และเป็นการยกบทบาทของประเทศอาเซียนในการไปมีบทบาทในกลุ่มธนาคารโลกมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีความช่วยเหลือทางการเงินไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนในภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิเช่น เมียนมาร์ สปป ลาว เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะส่งเสริมการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อนึ่ง สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศเป็นสถาบันในกลุ่มธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2503 มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเงินให้เปล่า) แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดและไม่มีศักยภาพที่จะกู้เงินภายใต้เงื่อนไขของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน พัฒนาการบริการพื้นฐาน เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3600