หลังจากการเพิ่มทุนในปี 2552 บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ก็มีฐานทุนแข็งแกร่งขึ้น ณ เดือนกันยายน 2556 ตลท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 24.66% ตามด้วยกระทรวงการคลัง (10.56%) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (6.02%) และธนาคารออมสิน (4.92%) นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นอื่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ (18.12%) บริษัทหลักทรัพย์ (16.61%) บริษัทจัดการกองทุน (14.77%) บริษัทประกัน (4.30%) และอื่น ๆ (0.04%) อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 0.71% ในปี 2551 เป็น 29.3% ในปี 2552 และ ณ เดือนกันยายน 2556 สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 36.75% เนื่องจากสินทรัพย์รวมของบริษัทมีขนาดเล็กลง
ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,165 ล้านบาท ในขณะที่มียอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 3,152 ล้านบาท บริษัทบันทึกผลขาดทุน 901 ล้านบาทและ 858 ล้านบาทในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับจากการหักขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อขาย ในปี 2553 บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 0.3 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิเพียงประมาณ 1 ล้านบาท และกลับมาขาดทุนอีกจำนวน 8 ล้านบาทในปี 2555 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิจำนวน 21 ล้านบาท ซึ่งความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแข็งแกร่งกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
บริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายในธุรกิจหลักด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและความท้าทายในตลาดหลังจากที่บริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ กล่าวคือ บริษัทหลักทรัพย์ได้ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2552 ถึงเดือนกันยายน 2556 ทำให้ขนาดของสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวจาก 16,000 ล้านบาทเป็น 45,000 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2556 ในขณะที่บริษัทมียอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพียง 3,152 ล้านบาท นอกจากนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทก็ลดลงจาก 22%-29% ในช่วงปี 2549-2551 หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในปี 2551 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงเป็น 14% ในปี 2552 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 6% ณ เดือนกันยายน 2556 เนื่องจากบริษัทสูญเสียต้นทุนทางการเงินในระดับที่แข่งขันได้ไปจึงทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจหลักลดลง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ตามแผนธุรกิจ บริษัทมีลู่ทางที่ดีในธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนและธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ แต่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป คณะผู้บริหารยังต้องการเวลาในการสร้างผลงานและบรรลุผลสำเร็จในการขยายตลาดตามแผนธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพียง 1 ล้านบาทของรายได้รวมในเดือนมกราคมถึงกันยายน 2556 เท่านั้น
บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable