สวรส. ดัน 4 กลยุทธ์ “พัฒนาเขตสุขภาพ” ลุยเมกะโปรเจค

ศุกร์ ๒๐ ธันวาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๐๔
จากนโยบายรัฐบาลเตรียมผลักดันแผนเมกะโปรเจค พัฒนาระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ในระยะ 10 ปี วงเงินงบประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มในปี 2558 นั้น ในเบื้องต้นของระยะเวลา 3 ปีแรก ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำมาตรฐานเขตบริการสุขภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการบริการด้านสุขภาพ

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยว่า สวรส. ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอภิบาลระบบสุขภาพ มาขับเคลื่อนให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่เป็นหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพมาตรฐานในทุกเขตสุขภาพ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยการลงทุนภายใน 3 ปีแรกนี้ มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตให้ลดลง 10% โดยเฉพาะในกลุ่มโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพในหลักสากล ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบบริการ 99% รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของภาครัฐและค่ารักษาที่ประชาชนจ่ายเอง

“แนวทางที่ สวรส. กำหนดไว้คือการทบทวนสถานการณ์ปัจจุบันว่า โครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเช่นไร อาทิ โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ในระดับต่างๆ คือ ระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลระดับใหญ่ มี รพ.ศูนย์ (รพศ.) รพ.ทั่วไป (รพท.) 116 แห่ง ระดับทุติยภูมิ เป็น รพ.ชุมชน 774 แห่ง และระดับปฐมภูมิ เป็นโรงพยาบาลระดับเล็ก เช่น รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 10,174 แห่ง จะต้องประเมินสมรรถนะในการให้การรักษาว่าอยู่ในระดับใด มีภาระงาน จำนวนบุคลากรปฏิบัติงานด้านการแพทย์ หรือจำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด รวมถึงระบบการส่งต่อฉุกเฉินมีประสิทธิภาพหรือยัง เพื่อหาช่องว่างและเติมเต็มคุณภาพการรักษาให้ได้มาตรฐาน”

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้น สวรส. ได้เสนอ 4 กลยุทธ์เพื่อแนวทางในการลดช่องว่างของระบบสุขภาพ ที่เรียกว่า ASAP ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ 1 A : All in one area health เช่น ในพื้นที่ 1 เขตบริการสุขภาพอย่างน้อย 1 แห่ง มีศูนย์การบริการสุขภาพแบบศูนย์รวมที่สามารถให้บริการการรักษาในระดับที่สูงกว่าตติยภูมิได้หรือเรียกว่า “Super-excellence” เช่น มีศูนย์มะเร็งที่พร้อมในการฉายแสง การทำเคมีบำบัด หรือพร้อมในการรักษาโรคที่เกิดจากภาวะ Stroke เช่น หลอดเลือดสมองที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นต้น กลยุทธ์ที่ 2 S : Satellite OPD เช่น การพัฒนาให้มีศูนย์รับผู้ป่วยนอกกระจายอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลใหญ่ เพื่อเป็นการลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใหญ่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย และเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาล

กลยุทธ์ที่ 3 A : Ambulatory mobile OR Team เช่น จากที่ผ่านมาใน รพช. มีเครื่องมือพร้อมในการผ่าตัดแต่ด้วยความกังวลต่อการถูกฟ้องร้อง เสนอให้เขตบริการสุขภาพได้พัฒนาทีมผ่าตัดเคลื่อนที่ส่วนกลางที่มีศัลยแพทย์เฉพาะด้าน หมอดมยา พยาบาลดูแลก่อนและหลังผ่าตัด โดย รพ. จะต้องลิสต์รายชื่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วนเพื่อรอเข้ารับการผ่าตัดใน รพช. เขตพื้นที่ใกล้บ้านตนเอง เป็นต้น และ กลยุทธ์ที่ 4 P : Public private partnerships (PPP) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จากการกระจายอำนาจให้กับผู้บริหารเขตสุขภาพมีการเจรจากับ รพ.เอกชน รพ.มหาวิทยาลัย ในการบริการเตียงผู้ป่วยในกรณี รพ.ของรัฐไม่เพียงพอ โดยมีการตัดจ่ายกันระหว่างโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินจ่ายในราคา รพ.เอกชน รวมถึงการแชร์อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องสแกนสมอง MRI เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ครบถ้วนตามมาตรฐานสากล ซึ่งทั้งหมด สวรส. มีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาร่วมกำหนดมาตรฐานของระบบสุขภาพที่เป็นสากลภายในระยะเวลา 3 ปีนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ