นายวีระพันธุ์ได้ประเมินว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวนอกจากจะสร้างความแข็งแกร่งให้ “กรุงศรี” แล้ว ยังจะเป็นผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอีกด้วย เพราะ BTMU ได้แสดงให้โลกประจักษ์ว่าในยามที่ประเทศไทยประสบวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจสะดุด BTMU ก็มิได้ลังเลที่จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้น “กรุงศรี” ในสัดส่วนที่ท่วมท้น โดยได้ใช้เงินลงทุนถึงประมาณ 171,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันให้โลกเห็นถึงความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากในอนาคตของประเทศไทย
นายวีระพันธุ์ได้แถลงอีกด้วยว่า ในเดือนหน้า “กรุงศรี” จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในการจะซื้อและรับโอนกิจการสาขากรุงเทพฯของ BTMU เพื่อนำมาควบรวมกับกิจการของ “กรุงศรี” ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2557 ในการนี้ “กรุงศรี” จะชำระค่าตอบแทนการซื้อกิจการดังกล่าวด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำหน่ายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่ BTMU ในจำนวนสูงสุดไม่เกิน 1,500,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละประมาณ 39 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 59,000ล้านบาท เมื่อการควบรวมจบลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า สัดส่วนการถือหุ้นของ BTMU ใน “กรุงศรี” จะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว ในขณะที่สัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่น เช่นกลุ่มรัตนรักษ์ก็จะลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 25 เหลือประมาณร้อยละ 21 โดยกลุ่มรัตนรักษ์พร้อมจะเป็น Constructive, significant, minority partner หรือผู้ถือหุ้นกลุ่มรองที่สำคัญและสร้างสรรค์
นายวีระพันธุ์ได้เสริมว่า การที่ BTMU ถือหุ้น “กรุงศรี” ในสัดส่วนที่สูงเช่นนี้ มีผลผูกพันที่ BTMU จะต้องดูแลให้ “กรุงศรี” ในฐานะสถาบันการเงินในเครือ สร้างผลงานอย่างเต็มที่ และได้กล่าวในท้ายที่สุดว่า ทุกวันนี้บริษัทข้ามชาติระดับโลกมิได้วัดกันด้วยขนาดของการถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแข่งขันกันสร้างชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และบริการการบริหารงานที่มีประสิทธิผล โดยยึดถือธรรมาภิบาลเป็นหลัก เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ BTMU มีอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของ “กรุงศรี” ที่จะเติมเต็มธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทันสมัยทุกรูปแบบ และความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเชิงรุก รวมทั้งความสามารถในการที่จะเข้าถึงบริษัทข้ามชาติระดับโลกด้วยแรงสนับสนุนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วย
เกี่ยวกับกรุงศรี - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย และดำเนินธุรกิจมานานกว่า 68 ปี ธนาคารเป็นบริษัทในเครือของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ซึ่งถือหุ้น 100% โดยกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารรวม 604 สาขา และช่องทางการขายกว่า 19,900 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชี (ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคล) มากกว่า 6.3 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อ ผู้มีรายได้น้อยผ่านบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้ออีกด้วย
กรุงศรี มีพันธะสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด และธนาคารได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กร ชั้นนำในไทย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
เกี่ยวกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป (MUFG)
มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 234 ล้านล้านเยน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556) หลักทรัพย์ของกลุ่ม MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยธุรกิจของกลุ่ม MUFG ประกอบด้วย 5 บริษัทหลัก ได้แก่ ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ, มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ทรัสท์ แอนด์ แบงก์กิ้ง คอร์เปอเรชั่น, บริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ซิเคียวริตี้ โฮลดิ้ง, บริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ NICOS จำกัด และบริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส แอนด์ ไฟแนนซ์ จำกัด โดยกลุ่ม MUFG ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมทั้ง ธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์ แบงก์กิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ และอีกหลากหลาย โดยกลุ่ม MUFG มีเครือข่ายธุรกิจข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มสถาบันการเงินในญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานและบริษัทในเครือมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้ง ธนาคารยูเนียน แบงก์ด้วย