ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. เอสโซ่ (ประเทศไทย)” ที่ “A+/Stable”

พุธ ๒๕ ธันวาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๑๔
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ตลอดจนโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานผลิตอะโรเมติกส์ที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนที่เข้มแข็งจาก Exxon Mobil Corporation และบริษัทในเครือ (ExxonMobil) ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ตลอดจนความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และเศรษฐกิจโลกด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของผลประกอบการและการตลาดในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอและยังคงได้รับการสนับสนุนจาก ExxonMobil เพื่อที่จะสามารถรองรับความผันผวนของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้

บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ ExxonMobil บริษัทบริหารจัดการโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 1 โรงจากทั้งหมด 28 โรงของ ExxonMobil ที่มีอยู่ทั่วโลกบริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2437 และเริ่มดำเนินงานโรงกลั่นน้ำมันในปี 2514 ณ เดือนพฤษภาคม 2556 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทประกอบด้วย ExxonMobil ในสัดส่วน 66% และกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 7% บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ด้วยกำลังการกลั่นสูงสุดที่ 174,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดในประเทศไทย บริษัทจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ให้แก่กลุ่มลูกค้าพาณิชย์และจำหน่ายผ่านสถานีบริการในเครือข่าย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีสถานีบริการน้ำมันที่บริหารงานภายใต้เครื่องหมายการค้า “เอสโซ่” จำนวน 513 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายสารอะโรเมติกส์โดยมีโรงงานเชื่อมต่อกับโรงกลั่นน้ำมันด้วย โรงงานอะโรเมติกส์ของบริษัทมีกำลังการผลิตสารพาราไซลีน (Paraxylene – PX) จำนวนทั้งสิ้น 500,000 ตันต่อปี

สถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานผลิตอะโรเมติกส์ซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และด้วยเทคโนโลยีและการดำเนินงานตามปรัชญาของ ExxonMobil จึงส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและมีหน่วยผลิตที่มีความพร้อมสูงสุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายของ ExxonMobil ที่มีอยู่ทั่วโลกในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ในปี 2555 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่บริษัทกลั่นได้ประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 34.9% น้ำมันเบนซิน 17.3% รีฟอร์เมต (Reformate) 12.5% น้ำมันเตา 11.3% น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 8.7% และอื่น ๆ 15.3% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันของบริษัทมียอดจำหน่ายโดยรวมเป็นอันดับ 2 รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 15%-17% ด้วยยอดจำหน่าย 2,500-3,000 ล้านลิตรต่อปี

สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้ของบริษัทลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็น 181,293 ล้านบาทเนื่องจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ยอดขายของบริษัทในสัดส่วน 90% มาจากธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 3.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เป็น 4.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ซึ่งทำให้ธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมันของบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,739 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของธุรกิจปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของ PX ซึ่งทำให้ส่วนต่างของราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์และราคาต้นทุนวัตถุดิบแคบลง ธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัทจึงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 593 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556

ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีเงินกู้รวม 30,697 ล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 55.8% ลดลงจาก 58.0% ณ สิ้นปี 2555 แต่ยังคงสูงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเล็กน้อย โดยอัตราส่วนที่ลดลงน้อยกว่าที่คาดนั้นเป็นผลจากอัตรากำไรของธุรกิจปิโตรเคมีที่ต่ำกว่าคาด ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-5,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่คาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 600-1,100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งจากการมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจำนวน 59,000 ล้านบาทจากกลุ่มบริษัท ExxonMobil อีกด้วย

บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ