นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1,800 ล้านคน อาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 300 ล้านคน เอเชียใต้ 400 ล้านคน เอเชียเหนือ 100 ล้าน และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกนับเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าประมาณ 6 - 8 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งมีแนวโน้มการเติบโต และการขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นในส่วนของภัตตาคาร ร้านอาหารมุสลิมหรืออาหารฮาลาลในประเทศไทยจึงควรมีความพร้อมในการรองรับผู้บริโภคชาวมุสลิมที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก ภายใต้มาตรฐานการบริการอาหารฮาลาลที่เชื่อถือได้ให้แพร่หลายออกไปใน วงกว้าง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“การจัดการครัวฮาลาลโดยใช้หลักสุขลักษณะ และหลักศาสนาอิสลาม นอกจากจะช่วยพัฒนาการให้บริการอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพ ปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมเกิดความมั่นใจในการรับประทานอาหารนั้นๆ เพราะสามารถมั่นใจได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร หลักโภชนาการ หลักสุขาภิบาลความสะอาด และความปลอดภัย ดังนั้นการให้ความรู้ในเรื่องของครัวฮาลาลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของร้านอาหารในประเทศไทยที่ควรจะต้องมีการปรับมาตรฐานของร้านอาหารให้ได้รับตราฮาลาล หรือได้มาตรฐานของครัวฮาลาล เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้”
นางอรวรรณ กล่าวต่อว่า การจัดสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลกเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในครั้งนี้ สถาบันอาหารจัดขึ้นภายใต้ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารฮาลาลตระหนักถึงความสำคัญของการปรุงอาหารที่ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะและหลักศาสนาอิสลาม มีศักยภาพสามารถพัฒนาครัวฮาลาลไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจ ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร หน่วยงานราชการ และ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 200 คน
ด้านผศ.รุ่งโรจน์ เบญจมสุทิน ผู้อำนวยการโครงการธุรกิจและเศรษฐกิจอาเซ๊ยน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาลคิดเป็นมูลค่าราว 1.2 – 1.3 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี เฉพาะตลาดในประเทศตะวันออกกลางไทยมีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี สำหรับตลาดในประเทศไทยเองมีชาวมุสลิม 3.9 ล้านคน และพบว่าในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากทั่วโลกเข้ามาประเทศไทยราว 2 ล้านคน ดังนั้นภาคธุรกิจบริการโดยเฉพาะภัตตาคาร ร้านอาหาร ครัวฮาลาลในโรงแรมต่างๆ ซึ่งต้องรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจึงควรต้องได้รับการพัฒนา ยกระดับมาตรฐานการผลิตและการบริการให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นเครื่องมือในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้”
ขณะที่นายสรายุทธ มัลลัม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ตลาดมุสลิมมีศักยภาพสูง ยังมีนักท่องเที่ยวมุสลิมต้องการมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกมาก แต่ติดปัญหาเรื่องการหาอาหาร ฮาลาลที่เชื่อถือได้รับประทานยาก แม้บางร้านจะอ้างว่าเป็นครัวฮาลาลก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเข้มงวดในการใช้กฎหมายตรวจตราดูแลเพื่อให้ร้านเหล่านี้เข้าสู่ระบบครัวฮาลาลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ร้านอาหารฮาลาลส่วนใหญ่ที่เปิดบริการมักไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบริโภคอาหารมื้อค่ำ โดยมักให้บริการเฉพาะมื้อเช้าและมื้อกลางวันเท่านั้น จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ผู้ประกอบการที่ต้องการช่วงชิงตลาดนี้จึงควรมีความพร้อม 4 ด้านคือ ด้านสถานที่ บุคลากร อาหาร และการจัดการ หมายรวมถึงองค์ความรู้ในเรื่องศาสนาด้วย”
นายจิรพงษ์ ดีประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมนิวเวิลด์ ซิตี้ ซึ่งเปิดให้บริการครัวฮาลาลที่ได้มาตรฐาน กล่าวว่า การพัฒนาครัวฮาลาลนั้นต้องอาศัยความใส่ใจ และศึกษาอย่างจริงจัง เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากผู้ประกอบการไม่ได้เป็นชาวมุสลิมก็สามารถดำเนินการได้หากมีที่ปรึกษาที่เข้าใจในหลักศาสนาคอยให้คำแนะนำ