ในปีนี้พรานทะเลได้นำพนักงานและเชิญชวนน้องๆชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ จำนวน 98 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กซึ่งอาศัยในชุมชน จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำการประมง มาเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มจำนวนป่าชายเลนซึ่งจะส่งผลต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชน น้องๆและพี่ๆพนักงานพรานทะเลได้เรียนรู้ร่วมกันว่าป่าชายเลนเป็นกลุ่มของสังคมพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ไม้ป่าชายเลนจะขึ้นอยู่กับแนวเขตพื้นที่ที่แตกต่างจากพืชป่าบก ทั้งนี้เพราะอิทธิพลจากลักษณะของดิน ความเค็มของน้ำทะเลและการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นสำคัญ สำหรับต้นไม้ที่อยู่ในหมวดไม้ชายเลน ได้แก่ ต้นโกงกาง ทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ จะขึ้นอยู่หนาแน่นบนพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเล และไม้อื่นๆเช่น ไม้แสม ,ประสัก ไม้ตะบูน และ ไม้เสม็ด ซึ่งป่าชายเลนนี้นับว่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำน้อยใหญ่
ประโยชน์สำคัญของป่าชายเลน คือเป็นแหล่งสำหรับลดความรุนแรงของคลื่น ป้องกันการพังทลายของดินชายฝั่ง ช่วยชะลอความเร็วของลมพายุให้ลดลงก่อนที่จะขึ้นสู่ฝั่งมิให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้เคียง ช่วยเพิ่มพื้นที่ตามชายฝั่ง เพราะระบบรากของไม้ป่าชายเลนจะช่วยในการทับถมของเลนโคลน ทำให้เกิดดินเลนงอกใหม่อยู่เสมอ ช่วยกรองของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มิให้ไหลลงสู่ทะเล อันจะสร้างความเสียหายแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศในบริเวณชายฝั่งได้
ด.ช.วัชรพล สีคล้อย หรือ น้องนิว อายุ 14 ปี เล่าว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้มาปลูกต้นโกงกางจริงๆ ภูมิใจมากที่ผมเกิดมาเป็นลูกน้ำเค็ม พ่อแม่ทำอาชีพประมงได้มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนป่าชายเลน การปลูกป่าชายเลนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเลอะเทอะสกปรกและลำบากต้องลงไปในพื้นที่ดินโคลน แต่พวกเราคิดว่าคุ้มค่าและมีความสุขที่ได้สร้างแหล่งที่อยู่และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตัวอ่อน พวกเศษไม้ใบไม้และส่วนต่างๆ ของไม้ที่ร่วงหล่นจะถูกย่อยสลายเป็นโปรตีน สำหรับพวกหอย ปู และหนอนปล้อง ซึ่งจะเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่ใหญ่กว่าต่อไป เป็นที่อยู่อาศัยและที่อนุบาลสัตว์น้ำในระยะตัวอ่อนทั้งกุ้งและปลา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของ กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว และปลาอื่นๆ ด้วยครับ”
ด.ช.ดณิศร อินทรศร หรือ น้องมอส อายุ 14 ปี เล่าถึงต้นกล้าที่ใช้ในการปลูกป่าชายเลนว่า “สำหรับต้นกล้าของต้นโกงกางที่ปลูกวันนี้มี 2 แบบ คือต้นกล้าโกงกางซึ่งผ่านการเพาะเลี้ยงมาแล้ว จนมีความสูงของต้นกล้าประมาณ 90-120 ซม.แบบเดียวกับที่ผมถือ ส่วนอีกแบบเรียกว่าฝักโกงกาง เหมือนที่เพื่อนๆถือครับในการเลือกพื้นที่ปลูกก็สำคัญนะครับ เพราะจะส่งผลว่าต้นโกงกางที่เราปลูกจะรอดหรือไม่ ควรเลือกที่ซึ่งลมพัดเข้าออกไม่แรงมาก เพราะถ้าคลื่นลมแรงมากจะพัดพาตะกอนดินออกจากชายฝั่งทำให้รากของต้นกล้าหลุดลอย เมื่อตากแดดนานๆ ต้นกล้าก็จะตายครับ”
ด.ญ.จุฬาพัฒน์ ประเสริฐลักษณา น้องกัน อายุ 14 ปี บอกถึงวิธีการปลูกว่า “ถ้าเป็นต้นกล้าโกงกางเราก็แกะถุงดำที่ใช้เพาะต้นกล้าโกงกางออก แล้วใช้มือขุดดินข้างๆหลักไม้ไผ่ที่ปักไว้ ให้ลึกประมาณก้อนดินที่หุ้มรากกล้าโกงกางอยู่ นำต้นกล้าโกงกางที่แกะถุงดำออกแล้วใส่หลุมที่ขุดไว้ และใช้มือตักดินมากลบโคนต้น เอาเชือกที่เตรียมมาผูกต้นกล้ากับหลักไม้ไผ่สองจุดให้แน่น โดยจุดแรกผูกสูงจากโคนต้นประมาณ 6 นิ้ว และจุดที่สอง ผูกเหนือหรือใต้ใบโกงกางคู่แรก แต่หากเป็นฝักโกงกาง ให้นำฝักโกงกางด้านที่ใหญ่กว่าปักลงในดินใกล้หลักไม้ไผ่ที่ปักไว้ ให้ลึกประมาณ1 ใน 3 ของความยาวฝัก แล้วนำเชือกที่เตรียมมาผูกระหว่างกลางของฝักโกงกางให้ติดกับหลักไม้ไผ่ โดยพันเชือกให้แน่นสองรอบระหว่างฝักกับหลักไม้ไผ่ เสร็จแล้วผูกให้แน่น เป็นอันเสร็จค่ะ”
แม้ว่าการปลูกป่าชายเลนจะมีขั้นตอนและวิธีการยุ่งยาก แต่เด็กๆก็เต็มใจที่จะเรียนรู้และตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่อให้ต้นโกงกางของพวกเขาให้เติบใหญ่กลายเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์น้ำและผู้คนรอบชายฝั่งให้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสุขสงบ พรานทะเลหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะสร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึกให้เด็กๆ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชน ในการช่วยกันอนุรักษ์และรักษาทั้งผืนป่าโกงกางและพื้นที่ป่าชายเลน หากทุกคนช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติก็จะทำให้คนในชุมชนมีความสุขจากการทำมาหากิน เพราะการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนคือการสร้างการมีส่วนร่วมและให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของนั่นเอง