อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหรรมในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี 2556 ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างปรากฎการณ์ให้ค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าความไม่สงบทางการเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น และเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่ชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลลบต่อค่าดัชนีในเดือนนี้
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการในเดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมย่อม อุตสาหกรรมมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับลดลง จากในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 85.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 85.9 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วกระจก, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 89.2 ลดลงจากระดับ 91.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 ลดลงจากระดับ 102.0 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 90.2 ลดลงจากระดับ 93.8 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.2 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม 2556 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน
ภาคกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 83.9 ลดลงจากระดับ 90.3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบว่า ผู้ประกอบการในภาคกลางมีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกยังประสบปัญหาจากการที่ประเทศคู่แข่งเริ่มชะลอคำสั่งซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะSMEs ยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน สำหรับอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรรมเยื่อและกระดาษ ซึ่งมียอดคำสั่งซื้อกระดาษแข็ง จากประเทศญี่ปุ่นและจีนลดลง, อุตสาหกรรรมปูนซีเมนต์มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดยาว ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ที่มียอดขายท่อเหล็ก เหล็กเส้น ในประเทศลดลง ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.8 ลดลงจากระดับ 99.0 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 96.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือที่มีอุณหภูมิลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปภาคเหนือมากขึ้น รวมทั้งการค้าชายแดนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มียอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาวในประเทศเพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร ที่มียอดขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.9 ลดลงจากระดับ 104.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 93.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังได้รับผลดีจากการค้าชายแดน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจากการสำรวจพบว่าหลายอุตสาหกรรมมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงสิ้นปี สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ที่มียอดการส่งออกในแถบยุโรปเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรรมน้ำตาลซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ด้าน ภาคตะวันออก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 91.0 ลดลงจากระดับ 91.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ความกังวลต่อความขัดแย้งทางการเมือง และยอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อผ้าเบรก และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ จากอเมริกาและญี่ปุ่นลดลง, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ที่สินค้าประเภทส่วนประกอบของเครื่องจักรกลมียอดขายลดลง, อุตสาหกรรมเคมี ที่ผลิตภัณฑ์เคมี เช่น สีผง สีทาบ้าน มียอดขายลดลง เป็นต้น ขณะที่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 ลดลงจากระดับ 102.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 87.5 ลดลงจากระดับ 88.2 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม นอกจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองแล้ว การก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ยังทำให้ภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งมียอดขายลดลงในตลาดหลัก เช่น จีน และอาเซียนมีการชะลอการสั่งซื้อ
เนื่องจากมีสต๊อกสินค้าปริมาณสูง, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น ที่มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะเดียวกันค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 ลดลงจากระดับ 104.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง จากในเดือนพฤศจิกายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 89.4 ลดลงจาก 91.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมแก้วและกระจก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ลดลงจากระดับ 102.6 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ 80.7 ลดลงจากระดับ 83.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรม ในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมเนียม, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.1 ลดลงจากระดับ 95.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกและอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนธันวาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ มีการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงอยากให้มีการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วย