สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และองค์กรนำร่องภาคอุตสาหกรรม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “การขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2557 ณ ห้องประชุม 405 ชั้น 4 ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช.ปทุมธานี เพื่อขยายผลให้มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม และวิเคราะห์แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร (Hot Spot) และหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งจัดให้มีการทวนสอบและรับรองผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบทวนสอบ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง 35 แห่ง มีระยะเวลาดำเนินการ 11 เดือน (พฤศจิกายน 2556 – ตุลาคม 2557) ซึ่งโครงการนี้เป็นการขยายผลการดำเนินงานจากโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ในปี 2556 ที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการร่วมกัน โดยมีองค์กรนำร่องภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินโครงการและได้รับการรับรองผลการประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจาก อบก. จำนวนทั้งสิ้น 26 แห่ง
จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวคิดการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรและคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับหน่วยงาน บริษัทหรือโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ
การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเป็นวิธีในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก มีการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานและจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการพัฒนาระบบการรับรองและทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรของประเทศ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในประเทศไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับโครงการการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม เป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร คำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในเชิงปริมาณเป็นกิโลกรัมหรือตัน และนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครั้งนี้เป็นการเน้นกลุ่มเป้าหมาย โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิกส์ อุตสาหกรรมอโลหะ และอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง 35 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์และลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมชององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากมีการพัฒนาขึ้นมาในอนาคต และมีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมระดับประเทศลดลง
“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัว 35 องค์กรนำร่อง ที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัทที่สนใจสมัครเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กรนั้นๆ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ และมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุน และเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9