สธ. รณรงค์ “เลือก หลีก ล้าง” ป้องกันไข้หวัดนกรับตรุษจีน

ศุกร์ ๒๔ มกราคม ๒๐๑๔ ๑๓:๕๙
กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนกในเทศกาลตรุษจีนให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคในจังหวัดนครปฐม บริเวณตลาดสดไฟฟ้า ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกหรือโรคไข้หวัดใหญ่ที่สัตว์ปีกเป็นพาหะนำโรคและติดต่อมายังคน ในประเทศไทยมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ในปี 2547-2549 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่ในประเทศต่างๆทั่วโลกและพบได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ เช่น H5N1 H7N9 และ H10N8 ทั้งในคนและสัตว์ ร่วมกับในระยะนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นเอื้อต่อการแพร่ของโรคไข้หวัดใหญ่ต่างๆ รวมทั้งโรคไข้หวัดนก ซึ่งโรคไข้หวัดนกสามารถแพร่ติดต่อได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือมูลจากสัตว์ปีก ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2557 นี้ ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มักจะหาซื้อไก่ หรือเป็ด เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ดังนั้นหากผู้บริโภคเลือกซื้อไก่หรือเป็ดอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดจากสัตว์ได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนกในเทศกาลตรุษจีน ให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคในบริเวณตลาดสดไฟฟ้า ต.นครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยกิจกรรมรณรงค์ประกอบด้วย การจัดขบวนพาเหรด รณรงค์ในตลาด และการจัดบูธ นิทรรศการ บริเวณหน้าตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนกการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งกระตุ้นให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการป้องกันโรคไข้หวัดนก และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนกในระดับพื้นที่

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนกในเทศกาลตรุษจีนนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้ทราบถึงวิธี การเลือกซื้อเป็ด หรือไก่ อย่างถูกวิธีด้วยหลักง่ายๆ คือ “เลือก หลีก ล้าง” เริ่มจากเลือกบริโภคเนื้อไก่ เป็ด และไข่ที่ปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ปีกที่ป่วย มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่งหรือป่วยตาย มาประกอบเป็นอาหาร หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย หากไปตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ผู้บริโภคควร เลือกซื้อสัตว์ปีกจากร้านที่ดูสะอาด ปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ และล้างมือบ่อย ๆด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสัมผัสสัตว์ และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์

“ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกป่วย-ตาย ล้างมือบ่อยๆ ไอจามปิดปากปิดจมูก และสวมหน้ากากป้องกันโรคเมื่อเป็นหวัด สำหรับประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศที่พบการเกิดโรคไข้หวัดนก สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานอาหารปรุงสุก ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิตหากจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วย-ตาย ให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ