ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีมีบทบาทสำคัญในทุกอาชีพ แม้แต่อาชีพนักวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์ ผลงานการค้นคว้าสำคัญๆ หลายผลงานก็มาจากฝีมือของสตรีเพศ ประเทศไทยเองก็มีนักวิจัยสตรีเก่งๆ ที่มีฝีมือและสร้างชื่อเสียงอยู่จำนวนไม่น้อย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในนักวิจัยสตรีไทยที่มีดีกรีเป็นถึงสตรีไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปทำการวิจัยเรื่องภาวะโลกร้อนยังดินแดนขั้วโลกใต้เมื่อปี 2552 และวันนี้เธอกำลังจะเดินทางไปสู่ขั้วโลกใต้เพื่อทำการวิจัยอีกครั้งใน “โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”และการเดินทางครั้งนี้จะต้องถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เพราะ ดร.สุชนา จะเป็นคนไทยคนแรกที่จะได้ลงไปสำรวจถึงใต้ท้องทะเลแอนตาร์กติกอันหนาวเหน็บ นับเป็นอีกครั้งที่คนไทยจะได้ภาคภูมิใจในความสามารถของสตรีไทยที่โดดเด่นในระดับสากล
การเดินทางครั้งที่สอง
การเดินทางไปยังขั้วโลกใต้ใน “โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในครั้งนี้ เป็นการเดินทางเพื่อศึกษาวิจัยทั้งด้านผลกระทบที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและการวิจัยดิน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาข้อมูลสำคัญๆเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไปในอนาคต ซึ่ง รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์กล่าวว่า “การเดินทางไปยังขั้วโลกใต้ในครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของดิฉันนับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านทรงเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเดินทางไปศึกษาวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติก ร่วมกับคณะนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ เกรทวอลล์ของจีน เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลทวีปแอนตาร์กติกซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการเดินทางไปขั้วโลกใต้เพื่อเก็บตัวอย่างเมื่อปี 2547/2548โดย รศ. ดร วรณพ วิยกาญจน์ และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะได้ดำน้ำลงไปสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลแอนตาร์กติก ณ สถานีวิจัยของจีน ซึ่งยังไม่เคยมีใครได้ลงไปยังใต้น้ำบริเวณสถานีวิจัยนี้มาก่อน ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา
“การลงไปใต้น้ำขั้วโลกในครั้งนี้ ก็เพื่อสังเกตพฤติกรรมและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตรวมถึงเก็บตัวอย่างดินและดินตะกอนในทะเล เพื่อนำมาศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การดำน้ำครั้งนี้ถือว่าท้าทายพอสมควร เนื่องจากปกติแล้วการดำน้ำจะต้องมีบัดดี้ลงไปด้วย แต่ครั้งนี้จะต้องลงไปเพียงคนเดียว ก็ต้องมีการเตรียมตัว ชุดดำน้ำใช้ชุด Dry Suit สำหรับน้ำที่อุณภูมิเย็นจัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนชุดดำน้ำพิเศษนี้ จาก ลอรีอัล ประเทศไทยหลังจากที่ลอรีอัลได้เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนทริปการเดินทางในครั้งแรกเช่นกัน” รศ.ดร.สุชนา กล่าว
จากประสบการณ์ขั้วโลกใต้สู่หนังสือภาพสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชน Polar Harmony
การเดินทางของนักวิจัยหญิงไทยคนเก่งคงเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนและบุคคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย และคงอยากรู้ว่าผลลัพธ์ของการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้นั้นคืออะไร ซึ่งประสบการณ์การเดินทางเพื่อทำการวิจัยดินแดนขั้วโลกใต้ของรศ.ดร.สุชนาในครั้งแรกนั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือภาพ Polar Harmony โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้น โดยหนังสือภาพเล่มนี้ได้รวบรวมภาพสมุทรศาสตร์ทางทะเลณ ดินแดนขั้วโลกใต้ ที่หาชมได้ยาก โดย รศ. ดร วรณพ วิยกาญจน์ พร้อมกับเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ชวนติดตาม
สดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ลอรีอัลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนับสนุนการจัดทำชุดดำน้ำชุดพิเศษนี้ให้กับ ดร. สุชนา ได้สวมใส่เพื่อดำน้ำลงไปสำรวจดูการเปลี่ยนแปลงใต้ท้องทะเลแอนตาร์ติก รวมถึงการจัดพิมพ์หนังสือ “Polar Harmony” ขึ้น โดย ดร. สุชนามีความตั้งใจที่จะรวบรวมภาพถ่ายและความรู้ที่ได้จากทริปการเดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติกเพื่องานวิจัยในครั้งแรกของดร.สุชนาและทีมงานโดยหนังสือเล่มนี้มีความพิเศษอยู่ที่ “คิวอาร์ โค้ด” (QR code) ในแต่ละหน้า ทำให้ผู้อ่านสามารถสแกนเข้าไปยังคลังความรู้ชั้นยอด อันจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเราได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานการศึกษา โรงเรียน และห้องสมุดทั่วประเทศสามารถติดต่อขอรับหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถแจ้งความสนใจได้ที่ [email protected]เราหวังว่า ภาพธรรมชาติที่แสนสวย ความน่ารักของสัตว์ขั้วโลกและเนื้อหาอันเป็นประโยชน์ในหนังสือเล่มนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรู้สึกรักและหวงแหนธรรมชาติ และมีความสนใจใคร่รู้ อยากออกไปค้นหาและทำความเข้าใจในสรรพสิ่งต่างๆรอบๆตัวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับดร.สุชนา ด้วย” สดับพิณกล่าวทิ้งท้าย