ท่านอิเคดะได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสังคม เพื่อช่วยให้สังคมและบุคคลมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับภัยธรรมชาติและภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยได้เสนอให้มีการสร้างคุณค่าเชิงบวกและสนับสนุนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนต่างๆรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและการอพยพออกจากพื้นที่ได้ดีขึ้น
ท่านอิเคดะยังเสนอให้ทุกฝ่ายมองว่าการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ เป็นกระบวนการเดียวกันทั้งหมด นอกจากนั้นยังเน้นย้ำว่าการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ จะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และจะเป็นการกำหนดนิยามใหม่ของความปลอดภัยในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จากปัจจุบันที่เป็นแนวคิดแบบ “ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย” โดยท่านอิเคดะแนะนำให้เริ่มด้วยการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน บวกญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ รวมถึงการทำข้อตกลง Asia Recovery Resilience Agreement และการทำข้อตกลงแบบเมืองพี่เมืองน้อง ตลอดจนจัดการประชุมระหว่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการรับมือกับภัยธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ขณะเดียวกันท่านอิเคดะย้ำว่าจำเป็นต้องผนวกรวมการศึกษาเข้าไว้ในกรอบการทำงานระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) หลังปีพ.ศ.2558 โดยแนะนำให้จัดการศึกษาสำหรับพลเมืองโลกโดยมีเป้าหมายกว้างๆ 3 ประการ ได้แก่ การทำให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาต่างๆ ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ค้นหาสาเหตุของปัญหา และเน้นย้ำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขได้, การติดตามสัญญาณของปรากฏการณ์ทั่วโลกในระดับประเทศและฝึกให้ผู้คนรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และสุดท้ายคือการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้นท่านอิเคดะยังเรียกร้องให้มีการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับยกย่องแถลงการร่วมว่าด้วยผลกระทบด้านมนุษยธรรมอันเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์ (Joint Statement on the Humanitarian Consequences of Nuclear Weapons) ที่ยื่นต่อคณะกรรมการที่หนึ่งของสมัชชาแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2556 โดยเตือนว่าการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม แถลงการร่วมดังกล่าวลงนามโดย 125 ประเทศ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น นอกจากนั้นท่านอิเคดะยังเรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ระหว่างบรรดาประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุด
ท่านอิเคดะเชื่อว่า ปีพ.ศ.2558 ซึ่งครบรอบ 70 ปีของเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าและนางาซากินั้น จะเป็นโอกาสสำคัญในการจัดการประชุมเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกันนั้นยังเสนอให้จัดการประชุมสำหรับเยาวชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจปลดอาวุธที่ล้าสมัยและสร้างความวุ่นวายนี้ นอกจากนั้นท่านอิเคดะยังนำเสนอผลการสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นในปีที่แล้วโดยเยาวชนซึ่งเป็นสมาชิกของเอสจีไอใน 9 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เยาวชน 90% เห็นว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม ขณะที่ 80% ต้องการสนธิสัญญาที่ระบุว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
หนังสือชื่อ “A Forum for Peace, Daisaku Ikeda's Proposals to the UN” ซึ่งรวบรวมใจความสำคัญของข้อเสนอเพื่อสันติภาพของท่านอิเคดะตลอด 30 ปี ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ I.B. Tauris เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีคำนิยมจากท่านทูต อันวารูล เค. โชวธุรี อดีตรองเลขาธิการทั่วไปและผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติ
ไดซาขุ อิเคดะ (พ.ศ.2471-ปัจจุบัน) เป็นนักพุทธปรัชญา นักประพันธ์ และนักสร้างสันติภาพ ท่านอิเคดะเป็นประธานสมาคมพุทธศาสนาโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เอสจีไอ ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิก 12 ล้านคนทั่วโลก นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 ท่านอิเคดะได้เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพในการแก้ปัญหาสำคัญๆ ทั่วโลกและเพื่อสนับสนุนองค์การสหประชาชาติในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งสมาคมเอสจีไอ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2518
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ :
โจน แอนเดอร์สัน (Joan Anderson)
สำนักงานข้อมูลสาธารณะ
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทรศัพท์: +81-80-5957-4711
โทรสาร: +81-3-5360-9885
อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp
AsiaNet 55615