ลอรีอัล บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของโลกประกาศให้คำมั่นยุติการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีพ.ศ. 2563 หลังจากแถลงการณ์ครั้งสำคัญนี้ กรีนพีซคาดหวังว่าบริษัทเครื่องสำอางรายอื่นๆจะมีนโยบายตามแบบลอรีอัลพร้อมกับมีกำหนดเวลาชัดเจนที่จะปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าว
“การให้คำมั่นสัญญาของลอรีอัลในการยุติการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าคือชัยชนะของผู้บริโภคทั่วโลก ต่อจากนี้ ประชาชนในอินโดนีเซียหลายพันคนและทั่วทุกมุมโลกที่ได้ร่วมกันลงชื่อรณรงค์จะจับตามองบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัทพี แอนด์ จี ที่ผลิตสินค้าแบรนด์ เฮดแอนด์โชว์เดอร์ รวมถึง คอลเกต ปาล์มโอลีฟ ให้ออกมายืนยันว่าจะไม่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท์ที่ใช้น้ำมันปาล์มที่ผลิตจากการปลูกปาล์มน้ำมันบนพื้นที่จากการตัดไม้ทำลายป่า” บุสตาร์ ไมทาร์ หัวหน้างานรณรงค์ด้านป่าไม้ประเทศอินโดนีเซีย กรีนพีซสากล กล่าว
ก่อนหน้านี้เนสท์เล่ ยูนิลิเวอร์ และเฟอเรโร่ ได้ประกาศนโยบายยุติการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ บริษัทผลิตน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ก็ได้เริ่มนโยบายนี้เช่นกัน โดยที่บริษัท วิลมาร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ประกาศนโยบายยุติการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าในปีที่แล้ว หลังจากได้รับความกดดันจากองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้บริโภค
“การที่ลอรีอัลและยูนิลิเวอร์ มีคำประกาศยุติการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่านั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน การดำเนินการตามคำสัญญานั้น ยังไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด เนื่องจากยังคงให้บริษัทผู้รับจ้างผลิตนำวัตถุดิบมาจากการทำลายป่าไม้ได้อีกถึง 6 ปี
กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตออกมารับประกันต่อผู้บริโภคว่าจะใช้วัตุดิบปลอดจากการข้องเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ตามกำหนดเวลา ภายในปีพ.ศ. 2563 เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน” บุสตาร์ ไมทาร์กล่าวเสริม
คำมั่นสัญญาในการกำหนดนโยบายการยุติการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ในชีวิตประจำวัน กรีนพีซยังคงผลักดันลอรีอัลและบริษัทอื่นๆให้ปฎิบัติจริงตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศอินโดนีเซีย แผนที่จากกรมป่าไม้แสดงให้เห็นว่าทุกปี ประเทศอินโดนีเซียสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเป็นจำนวน 620,000 เฮกเตอร์ (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศบรูไน) ส่งผลให้สัตว์ป่าเฉพาะถิ่นอย่างเช่นเสือสุมาตราที่มีจำนวนเหลือเพียง 400 ตัวตกอยู่ในความเสี่ยงจากการสูญพันธุ์ ทั้งนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในปาปัวนิวกินี และแอฟริกาไม่เพียงเป็นการคุกคามป่าไม้เท่านั้นแต่ยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย
หมายเหตุ
1. กรีนพีซสากลเปิดเผยความเชื่อมโยงของนโยบายการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทกับการทำลายป่า ที่ www.greenpeace.org/tigerchallenge
2. ประกาศคำมั่นสัญญาของ ลอรีอัล สามารถดูได้ที่นี่ : http://www.loreal.com/news/loreal-committed-to-0-deforestation-by-2020.aspx