นายวีรพงศ์ฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานการตรวจพบความผิดปกติในอ่างเก็บน้ำดิบในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ โดยสังเกตจากสีที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว และได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำดังกล่าว มาทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ พบว่าคุณภาพน้ำดิบมีค่าของสาหร่ายสูง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่อมีปัจจัยด้านสารอาหารและแสงแดดที่เหมาะสม แหล่งน้ำดังกล่าวเป็นอ่างเก็บน้ำดิบภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ซึ่งใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ ไม่ได้เป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคโดยตรง จึงไม่ได้มีผลกระทบ ต่อชาวบ้านและชุมชน ตามที่ข่าวนำเสนอ จากเหตุการณ์ดังกล่าว กนอ. ได้มีมาตรการเร่งดำเนินการ ดังนี้ มาตรการ ระยะสั้น การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง โดย 1. เก็บตัวอย่างน้ำไปทำการวิเคราะห์คุณภาพ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหา 2. ดำเนินการดูดสาหร่ายที่ลอยอยู่บนผิวน้ำนำไปกำจัด 3. สำรวจจุดเสี่ยงที่อ่างเก็บน้ำดิบอาจจะไหลสู่ภายนอก และดำเนินการปิดกั้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าน้ำจากอ่างเก็บน้ำดิบจะไม่ไหลสู่ชุมชน 4. ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ เพื่อให้น้ำ มีการไหลวน ลดการเจริญเติบโตของสาหร่าย และมาตรการระยะยาว กนอ. มีวิธีการในการดำเนินการ ดังนี้
1. มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาการควบคุมแหล่งเกิดสาหร่ายและการกำจัดสาหร่ายในอ่างเก็บน้ำดิบของนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลอ่างเก็บน้ำดิบในอนาคต
2. การติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำดิบอย่างต่อเนื่อง
3. จัดเตรียม และจัดอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อใช้ในการควบคุมสาหร่าย เช่น บลูม ทุ่นลอย ฯลฯ
4. จัดเตรียม และจัดหาอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สาหร่าย
5. ดำเนินการบริหารจัดการบ่อหน่วงด้วยความระมัดระวัง มีการป้องกันไม่ให้น้ำไหลล้นอ่างน้ำดิบ
6. จัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับชาวบ้านและชุมชนโดยรอบในเรื่องของปรากฏการณ์การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่าย (Algae Bloom)
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์น้ำสีเขียว เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อในน้ำมีแร่ธาตุมากเกินกว่าที่พืชน้ำหรือสาหร่ายขนาดใหญ่ สิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสาหร่ายเซลเดียว และกลุ่มสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งเป็นกึ่งพืชกึ่งแบคทีเรีย กินอาหารได้เร็วกว่า จะเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำกลายเป็นสีเขียวขุ่น สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กพวกนี้ เติบโตเร็ว ขยายพันธุ์เร็ว และมีอายุสั้น เมื่อตายก็จะจมลงสู่ก้นแหล่งน้ำ กลายเป็นสารอาหารที่เพิ่มขึ้น นายวีรพงศ์ฯ กล่าวสรุป