นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก เปิดเผยว่า “จากผลสำรวจของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน พบว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา ธุรกิจการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยนั้นมีอัตราการเติบโตโดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 21% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,700 ล้านบาท แม้ว่าในปีที่แล้วประเทศไทยจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่วิกฤติเหล่านี้กลับเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆทางภาครัฐและเอกชน เร่งหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับฐานข้อมูลของตน พร้อมกับทบทวนความคุ้มค่าของการลงทุนในด้านการบริหารดาต้าเซ็นเตอร์ในองค์กร”
สำหรับปี 2557 นี้ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลแวน คาดการณ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะยังคงรักษาระดับอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% โดยมีแรงหนุนจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ กระแสการตอบรับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ความต้องการศูนย์รับมือภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน Disaster Recovery (DR) site และการเชื่อมโยงเพื่อตอบรับการเติบโตในกลุ่มอาเซียน
นายธีระ กล่าวว่า “แม้ว่าเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งจะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ที่ผ่านๆมา หลายหน่วยงานยังอยู่ในช่วงการศึกษาค้นคว้าและทดลองใช้งาน เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ทำให้ปี 2556 เป็นปีที่กระแสการตอบรับคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มสูงขึ้นมาก ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จึงเริ่มเปิดให้บริการคลาวด์โซลูชั่นโฮสติ้ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ Infrastructure-as-a-Service สำหรับคลาวด์สาธารณะ และพัฒนาต่อไปยังคลาวด์ส่วนตัวสำหรับองค์กร”
“ศูนย์รับมือภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินหรือ DR-Site นั้นเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่ช่วงหลังน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 กอปรกับในปีที่แล้วผลกระทบทางการเมืองทำให้มีการปิดอาคารศูนย์ข้อมูลและสถานที่ทำการหลายแห่ง ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆต้องหาหนทางรับมือกับความไม่แน่นอนเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีความพร้อมในด้าน DR-Site สามารถทำตลาดได้โดยนำเสนอบริการนี้ ในลักษณะบริการเสริมหรือแพ็คเกจรวมให้กับลูกค้าใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดลูกค้าใหม่แล้วยังเป็นการแสดงถึงศักยภาพความพร้อมของดาต้าเซ็นเตอร์อีกด้วย” นายธีระเสริม
นอกจากนี้ นายธีระ ย้ำว่าแม้วิกฤติการณ์ทางการเมืองในบ้านเราจะยังไม่แน่นอน แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีต่อประเทศไทย
“ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยยังคงมีความสำคัญในแง่ของยุทธศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเริ่มพัฒนาศูนย์ข้อมูลของตน เพื่อยกระดับความปลอดภัยและการบริการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ผู้ให้บริการจากต่างชาติก็เริ่มให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนหรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับดาต้าเซ็นเตอร์ในบ้านเราอีกด้วย”