“การท่องเที่ยว” ธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยปีละหลายแสนล้านบาท และธุรกิจท่องเที่ยวไทยนับวันยิ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ “ธุรกิจทัวร์ออนไลน์” กลายเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้รักการท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์
ด้วยการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวไทยเช่นนี้ ส่งผลให้ธุรกิจทัวร์บางแห่งมีการบวกค่านายหน้าเข้าไปด้วย ซึ่งบางรายอาจะบวกเกินราคาจริงไปมาก ปัญหาข้างต้นจึงเป็น“แรงบันดาลใจ” ให้น้องๆนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ประกอบด้วยนายวงศกร เทศยรัตน์ “น้องนิว” นายทรงยศ แมนประสาทกุล“น้องเก่ง”คิดทำธุรกิจทัวร์ออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ : โครงการ “ต่อยอด” การพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ด้วยเล็งเห็นว่าผลงานของน้องๆ สามารถพัฒนาไปสู่การใช้ประยุกต์ใช้ได้จริง และจะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งต่อกลุ่มเป้าหมายและสังคม รวมทั้งต่อเยาวชนเจ้าของผลงานเอง ที่อาจจะต่อยอดเชิงพาณิชย์ หรือพัฒนาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้
นายวงศกร เทศยรัตน์ “น้องนิว”กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่รายได้ของธุรกิจส่วนหนึ่งไหลออกนอกประเทศจึงคิดหาเครื่องมือที่จะช่วย “เชื่อมโยง” ธุรกิจการท่องเที่ยวให้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย สื่อสารและทำธุรกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ ผ่านให้ธุรกิจเข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นผลดีในหลายๆด้านทั้งในแง่การสื่อสารและการทำธุรกรรมต่างๆผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีชื่อว่าFacebiz
ทั้งนี้ Facebizถือเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงคู่ค้าและลูกค้า ที่สามารถทำงานและติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ เป็นต้น
นายวงศกรกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการใช้งานของ Facebizจะมีรูปแบบคล้ายกับการเปิดร้านริมถนน ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปเลือกสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายๆ ยิ่งสินค้ามีหลายประเภท หลายระดับราคา ก็ยิ่งทำให้สินค้าดูน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะตามธรรมชาติแล้วการทำธุรกิจล้วนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งFacebiz ที่ตนและเพื่อนทำขึ้นนั้นก็เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ด้วยการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นที่คำนึงถึงการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงพนักงานได้แทบทุกระดับ ซึ่งธุรกิจต่างๆสามารถประยุกต์ใช้กับองค์กรตนเองได้ง่ายและรวดเร็ว
ทั้งนี้Facebiz ได้รับรางวัลการันตีผ่านการประกวดมากมาย ได้แก่ รางวัล Winner ในหมวด Secondary Students Project จากโครงการ Thailand ICT Awards 2011 (TICTA) รางวัล Merit ในหมวด Secondary Students Projectจากโครงการ APICTA 2011 และรางวัลชนะเลิศจากโครงการ NSC 2012 ในหมวดประยุกต์การใช้งานซึ่งได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงานต่อยอดในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่และล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดแนวคิดธุรกิจคนรุ่นใหม่ "ออมสินจากร้อยสู่เงินล้าน" จากธนาคารออมสิน อีกด้วย
นายวงศกร กล่าวอีกว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้สร้างรูปแบบใหม่ของธุรกิจออนไลน์ขึ้นมา เพราะถ้าจะมองเป็นตัวเงินที่ได้กับธุรกิจในเครือข่ายนั้นต้องยอนรับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่ตามมา แต่สิ่งสำคัญที่สุดทำให้ตนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้พัฒนาตัวเอง มีความคิดและมุมมองใหม่ๆมากขึ้นอีกด้วย
“ทุนสนับสนุนที่ได้รับจากมูลนิธิสยามกัมมาจลนั้น ผมและเพื่อนๆ ในทีมจะนำไปต่อยอดกับกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาทดสอบ เพื่อพัฒนาแกนของความร่วมมือให้มั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับ Facebizได้เปิดให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจเข้ามาทดลองใช้งานได้ฟรีประมาณเดือนเมษายน ปี 2557 ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้งานfacebizผ่าน browser จากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนโดยใช้อีเมล์ในการเข้าสู่ระบบเพื่อทำตลาดร่วมกัน”
“การได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ทำให้ผมมีมุมมองเรื่องธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการคิดคำนวณต้นทุนการหาจุดขายของสินค้า การสร้างคุณค่าให้กับตัวงาน การวางแผนการทำงาน เหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ผมมากขึ้น ซึ่งพวกผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงงานนี้จะช่วยให้ผมพัฒนางานต่อไปให้ดียิ่งขึ้น” นายวงศกรกล่าวทิ้งท้าย