สถาบันอนาคตไทยศึกษาชี้ ปฏิรูปครั้งใหม่ ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม จะสำเร็จต้อง “เร็ว”-“เน้นผลลัพธ์”-“ปฏิบัติได้จริง”

ศุกร์ ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ ๑๑:๑๑
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยแนวทางเพื่อการปฏิรูปครั้งใหม่ จะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ต้องเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น โดยต่อยอดจากที่เคยมีการศึกษาไว้แล้ว ข้อเสนอต้องเน้นไปที่ผลลัพธ์ และมีตัวชี้วัดชัดเจน ควรเสนอในรูปแบบของ “ข้อตกลงร่วมกัน” ระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม อย่างภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ และสร้างแรงจูงใจให้ถูกนำไปปฏิบัติจริง

สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เปิดเผยถึงแนวทางในการปฏิรูปครั้งใหม่ ในแต่ละครั้งที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย หรือเกิดความขัดแย้ง การปฏิรูปจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นกระบวนการในการหาทางออกให้กับประเทศครั้งแล้วครั้งเล่าถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตที่ไม่ไกล ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการ “ปฏิรูป” มาแล้วอย่างน้อย 3 คณะใหญ่ ยังไม่รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปคณะย่อย ๆ อีกหลายคณะ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งข้อเสนอที่ได้จากคณะกรรมการแต่ละชุดขึ้นไปอยู่บนหิ้ง ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาสานต่อ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษากล่าวว่า “ในวันนี้ ประเด็นการปฏิรูปก็ถูกชูขึ้นมาเช่นเคย แต่ถ้าเรายังขืนเดินซ้ำรอยเดิม และเดินหน้าปฏิรูปด้วยกระบวนการเดิมๆ ทุกอย่างก็จะจบแบบเดิมอีก และท้ายที่สุดการปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้นจริง ที่ผ่านมา เราก็เคยมีคณะปฏิรูปมาแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ 4 คณะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบประมาณไปเกือบ 1,300 ล้านบาท ผลิตข้อเสนอ 94 เรื่อง แต่ถ้าเราลองคิดดู มีซักกี่เรื่องที่ถูกนำไปปฏิบัติจริงๆ”

จากการศึกษา พบว่า จากบทเรียนของกระบวนการปฏิรูปที่ผ่านๆ มา แนวทางการปฏิรูปใหม่จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ หนึ่ง กระบวนการต้องเร็ว โดยเลือกปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ เพียงไม่กี่เรื่อง ที่ผ่านมาเราคิดมาแล้วในหลายคณะกรรมการปฏิรูปแล้ว ครั้งนี้จึงไม่ควรต้องเริ่มจากศูนย์ เราสามารถต่อยอดจากข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปครั้งที่ผ่านๆ มา บวกกับสิ่งที่มีคนเสนออยู่ตอนนี้ สอง ต้องเป็นข้อเสนอที่มีตัวชี้วัดชัดเจน เน้นไปที่ผลลัพธ์ นำไปปฏิบัติได้ ตรวจสอบได้ และมีการกำหนดกรอบเวลาแน่นอน และสาม ต้องสร้างเป็น “ข้อตกลงร่วมกัน” ระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม อย่างภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ และสร้างแรงจูงใจให้นำไปปฏิบัติจริง

เพราะที่ผ่านมา เราพบว่าคณะกรรมการปฏิรูปบางคณะใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องที่ควรปฏิรูป บางคณะเสนอข้อเสนอรวมถึง 94 ข้อ ส่วนใหญ่ของข้อเสนอมักเสนอให้รัฐบาล “ส่งเสริม” หรือ “สนับสนุน” แต่ก็ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมอย่างไร และยากที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลทำเสร็จแล้วหรือไม่ และในที่สุดก็แทบไม่มีข้อเสนอใดเลยที่ถูกนำมาใช้ แม้จะมีบางเรื่องที่ทำจนเสร็จถึงขั้นที่มีการเสนอเป็นร่างพรบ.แล้วก็ตาม

ทางสถาบันฯ หวังว่ารายงานจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการการพูดคุยเรื่องปฏิรูป และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การปฏิรูปต้องซ้ำรอยเดิม จึงต้องการที่จะเสนอกระบวนการปฏิรูปในรูปแบบใหม่ๆ ใน 2 เรื่องด้วยกัน หนึ่งเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปครั้งใหม่ดำเนินการได้เร็วขึ้น และไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ทางสถาบันฯ จึงได้รวบรวมข้อเสนอที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบัน อย่างข้อเสนอของ 7 องค์กรเอกชน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงสิ่งที่ได้จากคณะกรรมการปฏิรูปในครั้งก่อนหน้าจากคณะสมัชชาปฏิรูป และคปร. นำมากลั่นกรอง และสรรหาจุดร่วม/จุดเด่น เพื่อให้ได้ประเด็นสำคัญๆ ที่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วน รวม 8 เรื่อง เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มบทลงโทษ และเร่งดำเนินคดีคอร์รัปชั่น การสร้างกลไกตรวจสอบ ควบคุม ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐให้เข้มแข็งขึ้น โดยการจัดตั้งสำนักงบประมาณของรัฐสภา การสร้างเพิ่มธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง และการเพิ่มธรรมาภิบาลของการบริหารงานองค์กรอิสระ โดยการเผยแพร่รายงานประจำปี เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ก็ได้จัดทำ “ตัวอย่างข้อเสนอแนวทดลอง” ในเรื่องคอร์รัปชั่นเพื่อเป็นต้นแบบของข้อเสนอที่มีรายละเอียดที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีตัวชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์ซึ่งจะช่วยในการติดตามประเมินผล พร้อมทั้งมีกำหนดเวลาในการปฏิบัติชัดเจนว่าแต่ละเรื่องควรบรรลุเป้าหมายโดยใช้เวลาเท่าใด การปฏิรูปในรูปแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียเองก็มี “โครงการปฏิรูปภาครัฐ” ที่รัฐบาลมาเลเซียให้คำมั่นกับประชาชนไว้ และดำเนินการด้วยวิธีการเดียวกันนี้ คือมีการวางแผนปฏิบัติการโดยละเอียด มีการระบุตัวผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนงาน และมีการประเมินผลความสำเร็จจากตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เช่นกัน ที่สำคัญคือรัฐบาลมาเลเซียสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น จากที่เคยอยู่อันดับ 60 ในปี 2554 ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 53 ในปี 2556

“ทุกวันนี้คนไทยเอาแต่เถียงกันแต่เรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ทำให้เราลืมไปว่ามีอีกหลายเรื่องที่เราเห็นร่วมกันอยู่ จากที่ได้ทบทวนงานปฏิรูปทั้งของเก่าและของใหม่ ก็ได้เห็นว่ามีหลายเรื่องที่หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันอยู่ อย่างเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ควร ถ้าจะปฏิรูปเราก็น่าจะเริ่มจากเรื่องที่เราเห็นตรงกันก่อนได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version