ข้อมูลจาก รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่
สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ด้านการพัฒนาสมุนไพร และอาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ตามหลักการของการแพทย์แผนตะวันออกนั้น เน้นที่การดูแลสุขภาพและรักษาโรคที่เกิดขึ้นเป็นองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยไม่ได้ยึดหลักการพิจารณาเป็นส่วนๆ เหมือนกับการแพทย์แผนตะวันตกที่หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะส่วนไหนให้ทำการรักษาเฉพาะที่อวัยวะส่วนนั้นๆ การพิจาณาร่างกายของศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก เช่น การแพทย์แผนจีนนั้นยึดถือเรื่องของความสมดุลธรรมชาติในร่างกาย ซึ่งมีหลักการที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ (1) หลักสมดุล หยิน-หยาง (2) หลักสมดุลพลังงานแห่งชีวิต หรือ “ชี่” (3) หลักแห่งสมดุลทั้ง 8 และ (4) หลักความสมดุลของเบญจธาตุ หรือ ธาตุทั้ง 5 อันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง
จะเห็นได้ว่า การรักษาโรคและดูแลร่างกายตามหลักของแพทย์แผนตะวันออกนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับภาพรวมโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพองค์รวมและความสมดุลของร่างกายเป็นหลักซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เลือกแนวทางการรักษาชนิดนี้เพื่อมาใช้บำบัดรักษาโรคที่เป็นอยู่ และในปัจจุบันการรักษาตามแนวทางของแพทย์แผนตะวันออกโดยเฉพาะการแพทย์แผนจีนนั้นสามารถใช้แนวทางหลัก คือ การบำบัดรักษาโดยใช้พืชสมุนไพร และรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพในลักษณะอาหารฟังก์ชั่น เป็นต้น
“การนำเอาสมุนไพรมาเป็นทั้งยาและอาหาร ซึ่งเปรียบเสมือนของขวัญจากธรรมชาติ จึงเป็นตัวเลือกหลักที่แพทย์แผนตะวันออกนำมาใช้ในการบำรุงสุขภาพ การบำบัดและรักษาโรคให้กับผู้ป่วยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ซุปไก่สกัด เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันมานานแล้วในหมู่ชาวจีน เพราะชาวจีนใช้ซุปไก่สกัดช่วยสร้างสมดุลสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ฟื้นไข้ได้เร็วและยังช่วยบำรุงโลหิตสำหรับสตรีมีครรภ์อีกด้วย” รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ กล่าว
รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมุนไพรที่นำมาใช้ในทางการแพทย์แผนจีนนั้น ในปัจจุบันมีมากมายกว่า 10,000 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป แต่สมุนไพรแห่งโลกตะวันออกที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ถั่งเฉ้า โสม ตังกุย และแป๊ะก้วย เป็นต้น
ถั่งเฉ้า เป็นอีกหนึ่งชนิดของเห็ด ที่มีต้นกำเนิดมาจากพื้นที่เฉพาะ เช่น ที่ราบสูงในทิเบต ซึ่งจะพบเห็ดชนิดนี้ตามธรรมชาติในช่วงฤดูใบไม้ผลิตามที่ราบสูงในทิเบตและเนปาล ซึ่งหาได้ยากยิ่งจึงทำให้สมุนไพรชนิดนี้มีราคาแพงมาก ตามตำราการแพทย์แผนจีน ถั่งเฉ้าถือว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการบำรุงอวัยวะสำคัญ 2 อย่างคือ ไต ซึ่งเปรียบเสมือน “รากแห่งชีวิต” และปอด ซึ่งเป็นเหมือน “ต้นกำเนิดแห่งพลังงานชี่ทั้งร่างกาย” รวมถึงมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการอ่อนเพลีย ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จนถึงรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
โสม ได้ถูกนำมาใช้ในตำรายาแพทย์แผนโบราณโดยถูกจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์ร้อน หวาน และขมเล็กน้อย โดยมีผลช่วยในการทำงานของ ม้าม ปอดและหัวใจ นอกจากนี้ยังมีผลในการช่วยบำรุงพลังชี่ ส่งผลต่อสมดุลของของเหลวในร่างกาย ลดการกระหายน้ำ ช่วยสงบจิตใจ และช่วยบำรุงสมอง เป็นต้น สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคนั้นพบว่าทางการแพทย์แผนตะวันออกนำคุณสมบัติของโสมนี้ไปใช้ในการบรรเทาอาการต่างๆ ของร่างที่สืบเนื่องมาจากการขาดพลังชี่ของร่างกาย เช่น ภาวะหลงลืม ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่เจริญอาหาร ท้องเสีย ชีพจรอ่อนกำลัง เหงื่อออกผิดปกติ เบาหวาน เป็นไข้ ไม่เจริญอาหารและเสื่อมสมรรถภาพ
ตังกุย ได้รับการยกย่องให้เป็นสมุนไพรเพื่อสตรีโดยเฉพาะ โดยมีสรรพคุณในการบำรุงเลือด ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง ให้มีสุขภาพแข็งแรง
แป๊ะก๊วย เป็นสมุนไพรที่มีสารสำคัญในส่วนของใบซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงสมองโดยการเพิ่มเลือดไปไหลเวียนหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในสมองและยับยั้งการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง เป็นต้น
เพื่อให้การรับประทานสมุนไพรธรรมชาติเหล่านี้มีประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น ในปัจจุบันจึงมีการนำสมุนไพรต่างๆมาตุ๋นรวมกับซุปไก่ที่มาการใช้ในการบำรุงฟื้นฟูสุขภาพมาอย่างยาวนาน จวบจนปัจจุบันซุปไก่สกัดได้รับการยอมรับว่าเป็นฟังก์ชั่นนอลฟู้ดส์ หรืออาหารเสริมสุขภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลากหลายด้าน โดยมีงานวิจัยทางสุขภาพระดับนานาชาติหลายฉบับพบว่า ซุปไก่สกัดมีส่วนช่วยเสริมสร้างสมาธิ การเรียนรู้ ลดความเครียด คลายความอ่อนล้าของสมองและร่างกายได้ ที่นอกจากจะช่วยให้รับประทานง่ายและสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์ทั้งจากสมุนไพรและซุปไก่สกัดในคราวเดียวกัน
การเริ่มต้นสุขภาพดีแบบองค์รวม ด้วยวิถี...การแพทย์ตะวันออก จึงเป็นอีกทางเลือกของคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะคนยุคนี้ที่ต้องเผชิญกับ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งความเครียดจากเหตุบ้านการเมือง หากเราไม่เตรียมสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ก็อาจจะเจ็บปบ่วยได้ง่ายๆ
เอกสารอ้างอิง
1. U.S. Department of Health and Human Services. National Institute of Health (2009).Traditional Chinese Medicine: An Introduction. USA
2. Ehling. D. (2001), Oriental medicine: An introduction. Alternative Therapy Health Medicine, 7(4), 71-82
3. Chen, C.F., Chiou, W.F., and Zhang, J.T. (2008) Comparison of the pharmacological effects of Panax ginseng and Panax quinquefolium. Acta Pharmacologica Sinica 29 (9),1103-1108
4. Winkler, D. (2008), Yartsa Gunbu (Cordycep sinensis) and the fungal commodification of Tibet’s rural economy, Economic Botany, 62(3) 291-305