ฟิทช์ ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์

พฤหัส ๐๙ มิถุนายน ๒๐๐๕ ๑๕:๕๗
กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหนี้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) ขณะเดียวกัน ฟิทช์เรทติ้งส์ แห่งอังกฤษ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหนี้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’
อันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจและทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะคงไว้ได้ในระดับเดิม แม้ว่าแนวโน้มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงบ้างในปี 2548 อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ในขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศ การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ประกอบกับการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารของประเทศไทย รวมถึงโครงสร้างทางด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคตได้
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับประโยชน์จากผลพวงความพยายามในการปฏิรูประบบธนาคารตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 โดยมีเครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งของธนาคาร และสภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย ในฐานะที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2547 ที่ 18.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12.6 พันล้านบาท ในปี 2546 เนื่องจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่สูงขึ้น และผลกำไรพิเศษจากการลงทุน ผลกำไรก่อนหักสำรองเมื่อไม่นับรวมผลกำไรพิเศษจากการลงทุนแล้ว เพิ่มขึ้น 25.6% ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2548 ผลกำไรสุทธิลดลงเป็น 4.9 พันล้านบาท จาก 6.9 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากผลกำไรพิเศษที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระดับ 2.8% ในปี 2547 และ 3.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 จัดได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดของธนาคารไทย อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่า ผลกำไรสุทธิของธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากรายจ่ายทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นในปี 2549
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 77.6 พันล้านบาท หรือ 13.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างคิดเป็น 10% ของสินเชื่อรวม ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงมาอยู่ที่ 10% และ 5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารได้ลดลงมาที่ 63.8 พันล้านบาทเนื่องจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี ระดับสำรองหนี้สูญที่ 82.2% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นระดับที่นับว่าเป็นหนึ่งในระดับที่สูงที่สุดของธนาคารไทย อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 17% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 จาก 24.9% ณ สิ้นปี 2546 ชี้ให้เห็นถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 11.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 14.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง ฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงการจ่ายเงินปันผลและการเติบโตของสินทรัพย์แล้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยกรมพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่เป็นอันดับ 4 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากและสินเชื่อประมาณ 12% สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 24% ธนาคารไทยพาณิชย์มีบริษัทลูกชั้นนำในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้ผู้บริโภค การดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจ การจัดการกองทุน และประกันภัย
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก