ผลสำรวจครั้งนี้ได้จากการรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างคนทำงานในฐานข้อมูลของจ็อบสตรีทดอทคอมจำนวน 2,725 คน และผู้ประกอบการจำนวน 555 บริษัท เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ด้วยวิถีของคนทำงานปัจุบันที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตการทำงานอยู่ในออฟฟิศ 8 ชั่วโมงต่อวันหรือมากกว่านั้น ส่งผลให้คนทำงานส่วนใหญ่เห็นว่า ตนเองน่าจะมีโอกาสพบรักกับคนในที่ทำงานเดียวกันมากกว่าคนภายนอก คิดเป็น 79% ในขณะที่มี 45% เคยคบกับคนในออฟฟิศเดียวกัน และ 1 ใน 3 ในจำนวนนี้เคยพบรักมากกว่า 2 ครั้ง โดยความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นความรักแบบ “ชาย-หญิง” คิดเป็น 94% ในขณะที่ 5% มีความสัมพันธ์แบบ “หญิงรักหญิง” และอีก 2% เป็นแบบ “ชายรักชาย”
เมื่อสอบถามถึงการจัดการกับรักในที่ทำงานคู่รักส่วนใหญ่เลือกที่จะเปิดเผยกับคนในที่ทำงานมากมากขึ้นเมื่อความสัมพันธ์เริ่มจริงจัง ด้านระยะเวลาของความสัมพันธ์พบว่า คู่รักส่วนใหญ่ใช้เวลาคบหากันอยู่ในช่วง 1 – 3 ปี คิดเป็น 49% อีก 19% คบกันนานมากกว่า 5 ปี ในขณะที่ 32% ใช้เวลาคบกันเพียง 3 – 6 เดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าคู่รักที่คบกันในออฟฟิศจำนวน3 ใน 10 คู่มีความสัมพันธ์ที่ดีจนลงเอยถึงขั้นแต่งงานกัน
หากจำแนกประเภทของคู่รักตามระดับตำแหน่งงานพบว่า 6 ใน 10 เป็นคู่รักที่อยู่ในระดับตำแหน่งงานเดียวกัน ส่วนที่เหลือเป็นรักที่เกิดระหว่างเจ้านายกับลูกน้องหรือผู้ที่อยู่ในระดับตำแหน่งงานต่างกันในต่างหน่วยงาน ในขณะที่หากจำแนกตามหน่วยงานจะพบว่า 7 ใน 10 ของคู่รักทำงานต่างฝ่าย/แผนก และ 3 ใน 10 คู่ทำงานในหน่วยงานเดียวกัน
นายจุลเดช มัจฉิมานนท์ ตัวแทนผู้บริหารจาก จ็อบสตรีทดอทคอม ประเทศไทย เปิดเผยความเห็นของนายจ้างต่อความรักในที่ทำงานว่า “นายจ้างส่วนใหญ่เปิดไฟเขียวให้กับความรักในออฟฟิศตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบแง่ลบต่อการทำงาน เพราะความรักเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้แต่พนักงานเองควรรู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกัน เพราะหากไม่สามารถแยกแยะได้อาจส่งทบกระทบด้านลบต่อการทำงานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เกิดความลำเอียงในกรณีที่คู่รักคู่นั้นมีความเกี่ยวข้องกันในการประเมินผลการทำงาน, ทำงานได้แย่ลงหรือล่าช้าหากคู่รักอยู่ในช่วงที่มีปัญหาหรือทะเลาะกัน หรือเพื่อนร่วมงานอาจรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นแฟนกันและอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน”
“สำหรับคนที่มีความรักในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบใดก็ตาม หากรู้จักวางตัวให้เหมาะสม ไม่ว่าเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้างานก็ย่อมสนับสนุนและคอยเอาใจช่วย การมีความรักในออฟฟิศอาจเปลี่ยนให้คนๆ หนึ่งขยันขึ้น มาทำงานเร็วขึ้น หรือมีกำลังใจในการทำงานและสร้างผลงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ หากคนที่มีความรักในที่ทำงานรู้จักใช้พลังด้านบวกเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานย่อมสร้างโอกาสให้หน้าที่การงาน “รุ่ง” กว่าเดิมได้อย่างแน่นอน” นายจุลเดช กล่าวทิ้งท้าย