นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในตลาดโลก โดยดัชนี Nikkei 225 สามารถให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 56% ขณะที่ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
สำหรับ บลจ.แอสเซท พลัส มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเช่นกัน ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund ที่ลงทุนในกองทุน Nippon Growth Fund เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น บริหารจัดการโดย E.I. Sturdza Strategic Management Ltd และทีมผู้จัดการกองทุน นำโดย Mr. Yutaka Uda ที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนหุ้นญี่ปุ่นมากว่า 40 ปี
“ด้วยการบริหารของกองทุนหลัก Nippon Growth Fund ที่ผสมผสานด้วยนโยบาย Top down โดยเน้นลงทุนในหุ้น Large cap ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 แสนล้านเยนมากกว่า 90% ของพอร์ต และใช้กลยุทธ์ Bottom up ในการเลือกหุ้นที่ดีและเติบโตในระยะยาวโดยไม่เน้นการให้น้ำหนักการลงทุนตามดัชนี Nikkei225 เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร, กลุ่มการค้าพาณิชย์ (Commerce) จำพวก trading companies, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มก่อสร้าง โดยกองทุนได้เพิ่มการลงทุนในกลุ่ม Banking ในช่วงท้ายปี 2556 ซึ่งส่งผลให้ที่ผ่านมากองทุน ASP-NGF สามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ได้อยู่ในระดับสูงอยู่ที่ 41.31%* ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจสำหรับการลงทุนในหุ้น
ดังนั้น จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นญี่ปุ่นในปีนี้ บริษัทฯ จึงเล็งเห็นว่าปัจจุบันเป็นจังหวะเหมาะในการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น โดยแนะนำให้ลงทุนในระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากความสัมฤทธิ์ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และแนะนำให้ลงทุนในกองทุน ASP-NGF ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้า โดยลดค่าธรรมเนียมการขายจาก 2% เหลือ 1% จนถึง 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท เท่านั้น สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือรับหนังสือชี้ชวน ติดต่อ Asset Plus Call Center 02-672-1111” นายรัชต์ กล่าว
นายรัชต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวลดลง 10% อยู่ที่ระดับ 14,700 จุด เนื่องจากการปรับฐานของตลาดกับความกังวลเรื่องค่าเงินไหลออกของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอาร์เจนติน่า และตุรกี และการที่ค่าเงินเยนแข็งค่า แต่บริษัทฯ มองว่าปีนี้ยังคงเป็นปีทองในการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น โดยคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อคงให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 105-110 เยน/USD ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และยังคงนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ว่า จะอยู่ที่ระดับ 2.40% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ด้านกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) จะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม จากเดิมถือหุ้นอยู่ประมาณ 8% จะขยับขึ้นเป็น 12% ในระยะยาว ซึ่งจะหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมตลาดหุ้นญี่ปุ่น เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ จากการที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ซึ่งจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นอีกจำนวนมาก การประกาศขึ้นภาษีการขาย (Sales tax) จาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายน ปีนี้ ที่จะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การบริโภคชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่จะสร้างฐานะการคลังที่มั่นคงในระยะยาว และการคาดการณ์การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 15-20% ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ จะสามารถหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นได้ 15-20% ในปีนี้ ส่งผลให้ดัชนี Nikkei สามารถปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 17,000 จุด