ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดหลักการปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมของทีมช่วยเหลือไว้ 2 ข้อ หลักๆ หลักการปฏิบัติข้อแรก คือ การเตรียมพร้อมของทีมช่วยเหลือนอกสถานที่ ประกอบด้วยหน่วยกู้ชีพชั้นสูง หรือAdvance Life support (ALS) ซึ่งจะมีทั้งรถพยาบาล แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและพยาบาลที่มีประสบการณ์ร่วมอยู่ในทีมด้วย และอีกทีมคือหน่วยกู้ชีพพื้นฐานหรือ Basic Life Support (BLS) ทีมนี้จะมีหน่วยกู้ชีพของมูลนิธิต่างๆ ร่วมอยู่ในทีม โดยทีมช่วยเหลือนี้จะกระจายตัวประจำอยู่ตามจุดเสี่ยงต่างๆ อาทิ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้จะมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน รพ.พระนั่งเกล้า รพ.อินทร์บุรี รพ.นครปฐม รพ.อุทัยธานี รพ.เขาฉกรรจ์ รพ.สระแก้ว รพ.ตากสิน รพ.ตราด และ รพ.สังกัดของ กทม. ประจำอยู่ตามจุดเสี่ยง
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนหลักการปฏิบัติข้อที่ 2 คือการเตรียมพร้อมของทีมฝ่ายโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ ซึ่งจะมีการเตรียมพร้อมทั้งทีมแพทย์ ห้องผ่าตัด เตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เลือด ให้สามารถรองรับผู้บาดเจ็บได้ทุกเมื่อที่มีการนำผู้บาดเจ็บมารักษา มีทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศภ์ รพ.สังกัด กทม. รวมถึง รพ.เอกชนต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุม ทั้งนี้ยังมีการประสานเตรียมความพร้อมกับ รพ.ในเขตปริมณฑลหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงเพื่อขนย้ายผู้ป่วยเข้าไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเร็วที่สุดให้มีความปลอดภัยมากที่สุด รวมทั้งการประสานกับหน่วยกู้ชีพที่ประจำอยู่ต่างจังหวัดที่พร้อมลงมาช่วยในกรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง
“การกำหนดหลักการปฏิบัติช่วยเหลือผู้ชุมนุมในครั้งนี้ นับเป็นการปรับกระบวนการช่วยเหลือผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บให้มีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ไวที่สุด”