สนพ.เผยผลดำเนินการปรับปรุงเตาเผาเซรามิกเวิร์ก ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ย่อม ลดใช้ก๊าซ LPG ได้ปีละ 746 ตัน เป็นเงินกว่า 23 ล้านบาท

อังคาร ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ ๑๒:๒๕
สนพ.เผยผลการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในเตาเผาและกระบวนการผลิตเซรามิกประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการฯ เข้าร่วมตามเป้า 207 เตา ลดการใช้ก๊าซ LPG ได้ปีละ 746 ตัน คิดเป็นเงิน 23 ล้านบาท

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ. ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินโครงการ “ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในเตาเผาและกระบวนการผลิตเซรามิก” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกทั่วประเทศ ลดภาระต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 – เดือนพฤศจิกายน 2556 รวมระยะเวลา 18 เดือน

มช. ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเซรามิกทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อรับการปรับปรุงเตาเผาเซรามิกลดการใช้พลังงานใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ปรับปรุงเตาเดิมที่มีผนังเซรามิกไฟเบอร์ที่ชำรุดให้มีผนังเซรามิกไฟเบอร์ใหม่ 2.เปลี่ยนเตาเดิมหรือเตาผนังอิฐทนไฟมาเป็นเตาใหม่ผนังเซรามิกไฟเบอร์ 3.เปลี่ยนเตาเดิมหรือเตาผนังอิฐทนไฟเป็นเตาใหม่ผนังเซรามิกไฟเบอร์ และให้มีการนำความร้อนส่วนทิ้งในไอเสียมาอุ่นอากาศสำหรับการเผาไหม้ พร้อมทั้งควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้ และการใช้อิฐโพรงแทนอิฐทนไฟเพื่อลดน้ำหนักรถเข็นและข้างเตา ซึ่งแต่ละรูปแบบจะช่วยผู้ประกอบการลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ประมาณ 15 - 50%

จากการสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดย มช. ได้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเตาเผาเซรามิกประสิทธิภาพสูงรวมทั้งสิ้น 207 เตา ช่วยลดการใช้ก๊าซ LPG ได้ปีละ 746 ตัน คิดเป็นเงิน 23 ล้านบาท

“ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา สนพ. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเซรามิก ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนด้านพลังงาน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพเตาเผาเซรามิก เพื่อลดการรั่วไหลของความร้อนและก๊าซ LPG มาอย่างต่อเนื่อง สามารถลดการใช้ก๊าซ LPG ได้เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ประกอบการเซรามิกสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างยั่งยืน และมีทางเลือกอื่นในการใช้เชื้อเพลิงประเภทมากขึ้น สนพ. จึงได้มอบหมาย มช. ทำการศึกษานำชีวมวลระดับชุมชน อาทิ เศษไม้ หญ้า ฟางข้าว ฯลฯ มาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงใช้ทดแทนก๊าซ LPG ในอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมอีกด้วย” ผอ.สนพ. กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ