เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที 7 อุบลราชธานี (สคร.7) ร่วมกับ สถาบันราชประชาสมาสัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอำนาจเจริญ สาธารณสุขอำเภอเมืองอำนาจเจริญ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์นิคมอำนาจเจริญและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้จัดประชุมโครงการบูรณาการนิคมอำนาจเจริญ สู่ชุมชนทั่วไป ณ นิคมอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
นายอภิชาติ งามกมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญประธานในพิธี กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการควบคุมโรคเรื้อน ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ทำให้อัตราความชุกของโรคเรื้อนในประเทศไทยลดลง จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในปัจจุบัน และทรงมีสายพระเนตรยาวไกลในการให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานสนองแนวพระราชดำริ จนทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ดังนั้นการบูรณาการนิคมโรคเรื้อนอำนาจเจริญสู่ชุมชนทั่วไป เป็นอีกโครงการหนึ่งในความร่วมมือของหน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่จะช่วยให้การดูแลฟื้นฟู สภาพผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อนและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนิคมอำนาจเจริญ เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในพื้นที่ ขจัดความไม่เท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้ชุมชนรอบข้างมีทัศนคติที่ดีต่อสมาชิกที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ และช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อนพร้อมครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนิคมอำนาจเจริญ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับประชาชนในชุมชนทั่วไป
ด้าน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า นิคมอำนาจเจริญก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2494 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและหลีกเลี่ยงปัญหาทางสังคม มีพื้นที่ 3,212 ไร่ ให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน ทั้งในนิคมอำนาจเจริญและในชุมชน ทั้งหมดจำนวน 200 คน สมาชิกที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อนทั้งหมดหายจากการเป็นโรคเรื้อนแล้ว ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีความพิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การพัฒนานิคมโรคเรื้อนอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการบูรณาการนิคมโรคเรื้อนสู่ชุมชนทั่วไป ที่จะช่วยให้การดูแลฟื้นฟูสภาพผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อนและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนิคมบ้านกร่าง เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในพื้นที่ ขจัดความไม่เท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้ชุมชนรอบข้างมีทัศนคติที่ดีต่อสมาชิกที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ และช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อนพร้อมครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับประชาชนในชุมชนทั่วไปให้สามารถอยู่ในสังคมชุมชนได้อย่างมีความสุข
สำหรับวิธีสังเกตอาการผู้ป่วยเริ่มแรกของโรคนี้ คือ จะเป็นรอยโรคสีจางกว่าผิวหนังปกติ อาจพบขนร่วง เหงื่อไม่ออก ที่สำคัญคือภายในรอยโรคเหล่านี้ จะมีอาการชาหยิกไม่เจ็บ ส่วนโรคเรื้อนชนิดที่เป็นมาก จะมีผื่นนูนหนาหรือมีตุ่ม กระจายตามตัว โดยเฉพาะที่ใบหูจะนูนหนาจะนูนหนา และอาจมีขนคิ้วร่วงร่วมด้วย สำหรับการรักษาผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเรื้อนสามารถขอรับการตรวจ รักษาได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งใกล้บ้าน และปัจจุบันการรักษาโรคเรื้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถ ลดระยะเวลาการรักษาให้เหลือเพียง 6 เดือน– 2 ปี ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการระยะเริ่มแรกของโรคหรือเป็นมามากจนเข้าสู่ระยะ ติดต่อ หรือมีความพิการเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถรักษาให้หายจากโรคนี้ได้ / นพ.ศรายุธ กล่าว.