นายเจน เปิดเผยว่า จากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำ ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อปี 2548 สถาบันน้ำฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคตะวันออกขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจร่วมกันในด้านข้อมูลข่าวสาร เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อเสนอที่ได้ มาประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน จากความสำเร็จดังกล่าว สถาบันน้ำฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ให้ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศไทยรวม 20 จังหวัด เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1. ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การผลิต และการท่องเที่ยว ตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ สถานที่ตั้ง ณ สำนักชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน จังหวัดชลบุรี
2. ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคกลาง (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ ฉะเชิงเทรา) เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และการนำน้ำทิ้งของกรุงเทพฯ มาจัดทำเป็นน้ำเพื่ออุตสาหกรรม สถานที่ตั้ง ณ การประปานครหลวง สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
3. ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชากรในพื้นที่ สร้างศักยภาพพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ และสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูก รองรับการเจริญเติบโตของภาคการผลิต สถานที่ตั้ง ณ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จังหวัดขอนแก่น
4. ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค การผลิตและการท่องเที่ยวตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานที่ตั้ง ณ เขื่อนรัชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายธนศักดิ์ กล่าวว่า กปน. และสถาบันน้ำฯ ได้ประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรน้ำและการประปา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยในปีที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อหารือทางวิชาการ (MOD) จัดทำหลักสูตรผู้บริหารน้ำใส (Water Champion) เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้มีความรู้เกี่ยวกับการผลิตน้ำประปา เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคกลาง เพื่อเป็นศูนย์รวมในการสร้างองค์ความรู้ที่ได้จากการบูรณาการข้อมูลแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบของพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งการใช้น้ำเพื่อการผลิตและบริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. อันจะช่วยในการส่งเสริมการลงทุนและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป