สำหรับการวิจัยและพัฒนาตลอด 21 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือซี่งได้มีการลงนามไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 นั้น ได้บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการคัดเลือกสารเคมีที่ใช้ประสานผงเร่งปฏิกิริยา การศึกษาลักษณะของปฏิกิริยา Methanation และการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่กำลังการผลิตก๊าซมีเทนเท่ากับ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 0.9 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากการทดลองพบว่า อัตราการเปลี่ยนไฮโดรเจนสูงถึง 99% โดยผ่านเครื่องปฏิกรณ์แบบท่อเดี่ยวที่มีขนาดความยาวของท่อน้อยกว่า 5 เมตร ด้วยความเร็วในท่อ (Space velocity) มากกว่า 5,000 ต่อชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ตัวเร่งปฏิกิริยานี้มีประสิทธิภาพที่สูงมากและนับว่าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยามีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีที่สุดในขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้นตัวเร่งปฏิกิริยาที่พัฒนาขึ้นนี้ไม่มีส่วนประกอบเป็นธาตุหายาก จึงทำให้มีต้นทุนในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำมาก
ความสำเร็จของการวิจัยในระยะแรกนี้ พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่าง 3 บริษัท ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในระยะที่สอง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ ในการทำปฏิกิริยาจะต้องมีไฮโดรเจน (Hydrogen H2) ที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้น ปตท.สผ. จะได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจากกังหันลมที่เหมาะสมกับลักษณะภฺมิอากาศของประเทศไทยต่อไป
นายอัษฎากร กล่าวเพิ่มเติมว่า "เทคโนโลยีการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซมีเทนนี้นอกจากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นทางเลือกในการเก็บพลังงานหมุนเวียนให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งความสำเร็จในการวิจัยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมดังวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในเอเชียที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและหัวใจสีเขียว”