“การฉายแสงแดดเทียม” ทางเลือกสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน

พุธ ๐๕ มีนาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๑๙
“การฉายแสงแดดเทียม” ทางเลือกสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โดย แพทย์หญิง รัศนี อัครพันธุ์

ผู้อำนวยการศูนย์ Phototherapy

ศูนย์ผิวหนังและความงามกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

แสงอัลตราไวโอเลต ( UV ) หรือ “แสงแดด” ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจฉกรรจ์ของผิวสวย และยังเป็นต้นเหตุของสารพัดริ้วรอยไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่หนุ่มๆ สาวๆ หลายคนต้องส่ายหน้าร้องยี้กันเลยทีเดียว แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคผิวหนังบางประเภท แสงอัลตราไวโอเลตนี้อาจมีคุณและเป็นอีกทางเลือกใหม่ที่สามารถช่วยเยียวยาอาการของโรคให้ทุเลาเบาบาง

แพทย์หญิง รัศนี อัครพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ Phototherapy ศูนย์ผิวหนังและความงามกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า แสงอัลตราไวโอเลตเป็นส่วนหนึ่งของแสงอาทิตย์ แสงแดดที่ส่องมาถึงพื้นผิวโลกนอกจากประกอบไปด้วยแสงอัลตราไวโอเลตแล้วยังมีส่วนประกอบอื่น เช่น แสงที่ใช้ในการมองเห็น และแสงอินฟราเรด ที่ทำให้เกิดความร้อน แสงแดดเป็นสิ่งสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกคือ ให้แสงสว่างและความอบอุ่น ความรู้เรื่องแสงแดดผลของแสงต่อผิวหนังได้มีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้มีการค้นพบว่าแสงแดดสามารถโรคผิวหนังได้ โดยเฉพาะ “โรคสะเก็ดเงิน” (Psoriasis) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง ที่เกิดจากการปรวนแปรของภูมิคุ้มกันของร่างกายมีกระตุ้นให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติหลายเท่าทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น มีขุยขาวหนาคล้ายเงิน พบได้บ่อยในช่วง อายุ 20 ปี และ 40 ปีขึ้นไป พบได้ประมาณ ร้อยละ 1-2 ของประชากรทุกเชื้อชาติ หญิงและชายพบได้เท่ากัน

โดยโรคสะเก็ดเงินนี้ มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมกับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ถ้าบิดาและมารดาเป็นโรค บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินยังสัมพันธ์กับโรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน โดยมีอาการคือ มีตุ่มแดงขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาวอยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่ และหนาตัวขึ้นเป็นสะเก็ดสีเงินซึ่งสามารถขูดออกได้ง่าย บางครั้งสะเก็ดนี้จะร่วงเวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหน หรือร่วงอยู่ตามเก้าอี้ ที่นอน และเมื่อขูดขุยสะเก็ดหมดจะมีจุดเลือดออกบนรอยผื่น ผื่นอาจเกิดบนรอยแผลถลอกหรือรอยแผลผ่าตัด ผื่นผิวหนังพบได้หลายลักษณะ ผื่นหนาเฉพาะที่ หรือกระจายในบริเวณที่มีการเสียดสี ศีรษะ ไรผม สะโพก ศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นขนาดเล็กเท่าหยดน้ำหรือเล็กกว่า 1 ซม.กระจายทั่วตัว พบบ่อยในเด็กตามหลังการเกิดไข้หวัด 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังแดงลอกทั่วตัว ผื่นชนิดตุ่มหนอง พบเป็นตุ่มหนองเล็กๆ ที่ปราศจากเชื้อโรค บนผื่นสีแดง อาจเป็นเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปลายนิ้ว มือ ปลายนิ้วเท้า หรือกระจายทั่วตัว ความผิดปกติของเล็บ เช่น เล็บล่อน ปลายเล็บหนามีขุยใต้เล็บ หรือ จุดสีน้ำตาลใต้เล็บ มีการอักเสบของข้อซึ่งอาจเป็นได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก เป็นข้อเดียว หรือหลายข้อ และอาจจะมีข้อพิการตามหลังการอักเสบเรื้อรัง

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโดยใช้ยาทาคู่กับยารับประทาน และการรักษาด้วยแสงอัตราไวโอเลต หรือเรียกว่า การฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy) ร่วมด้วยจะทำให้ผลการรักษาเร็วขึ้น โดยรังสีอัลตราไวโอเลตที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต เอ พูว่า ( PUVA) คือการฉายแสงอัตราไวโอเลต เอ ซึ่งมีความยาวคลื่น 320 – 400 นาโนเมตร ร่วมกับการรับประทานยาเซอราเลน (PSORALEN) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางโรคผิวหนังรุนแรงปานกลางจนถึงขั้นรุนแรงมาก หรือใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยยาทาและยารับประทาน ผู้ป่วยควรจะได้รับการฉายแสงสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง และจะมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการฉายแสงประมาณ 12–18 ครั้ง แต่อาจต้องได้รับการฉายแสงต่อเนื่องเพื่อป้องกันกันการกำเริบของโรคเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดีคือ ส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน และรังสีอัลตราไวโอเลต บี แต่เดิมจะใช้คลื่นแสงในช่วง 290 – 320 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นแสงช่วงคลื่นกว้าง (Broadband UVB) ชึ่งจะพบผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างมาก ต่อมาได้มีการพัฒนาให้ใช้แสงที่ช่วงความยาวคลื่นแคบลงอยู่ในช่วง 311 นาโนเมตร เรียกว่า Narrowband UVB ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาเซอราเลน ก่อนการฉายแสงชนิดนี้

เครื่องฉายแสง UV Phototherapy มีหลายประเภท ชนิดฉายทั่วตัว ฉายเฉพาะ มือ – เท้า ฉายเฉพาะศีรษะ ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามตำแหน่งและความรุนแรงของผื่น และยังมีเครื่องฉายแสงเฉพาะหย่อมเล็กๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องถูกแสงอัลตราไวโอเลตเป็นปริมาณมาก ส่วนการเลือกว่าจะใช้แสงอัตราไวโอเลต เอ หรือ บี ขึ้นกับลักษณะของโรค ความรุนแรงของโรค และอายุของผู้ป่วย โดยก่อนการรักษาแพทย์จะทำการซักถามประวัติเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยจะต้องไม่มีประวัติแพ้แสงแดดหรือเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน จากนั้นจะให้ทานยาเซอราเลน (PSORALEN) ก่อนได้รับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต เอ 2 ชั่วโมง และควรรับประทานยาหลังอาหารเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยหลังจากทานยาผู้ป่วยไม่ควรตากแดดเป็นเวลา 8 – 12 ชั่วโมง ควรหลบแดดควรใส่แว่นตากันแดด สวมเสื้อแขนยาว ทายากันแดด หรือกางร่ม เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น และผู้ป่วยต้องไม่รับประทานยาประเภทที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงแดด เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูงบางชนิด ถ้ารับประทานยาประเภทนี้อยู่ควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบ ต้องไม่เป็นต้อกระจกและควรตรวจตาสม่ำเสมอ

นอกจากโรคสะเก็ดเงินแล้วพบว่า การฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy) ยังสามารถใช้การรักษาโรคผิวหนังชนิดอื่น เช่น โรคด่างขาว (Vitiligo) ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ผื่นคันเรื้อรังที่มือและเท้า ผื่นคันที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน โรคตับ โรคไต ผื่นคันไม่ทราบสาเหตุ ผื่นกุหลาบ (Pityriasis rosea) มะเร็งผิวหนังบางชนิด (mycosis fungoides) ได้อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ