โดยล่าสุด ดั๊บเบิ้ล เอ ได้เริ่มทยอยมอบทุนพัฒนาโรงเรียนในโครงการปลูกต้นกระดาษ ปลูกปัญญาโรงเรียนในชนบทปี 2 ให้กับโรงเรียนต่างๆที่เข้าร่วมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 และต้นไม้เติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งได้เดินทางไปโรงเรียนที่ได้ทุนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี ที่สามารถเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นทุนพัฒนาโรงเรียนแบบพึ่งตนเองได้จนประสบความสำเร็จรวมกว่า 200 ต้น และยังมีส่วนช่วยลดโลกร้อนด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 14,100 ต้น จากการปลูกต้นกระดาษบนพื้นที่ว่างของโรงเรียนมากว่า 3 ปี
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวว่า กิจกรรม “ปลูกต้นกระดาษ ปลูกปัญญาโรงเรียนในชนบท” ซึ่งดั๊บเบิ้ล เอ และพันธมิตรที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อรับต้นกระดาษไปปลูกเป็นทุนพัฒนาการศึกษาที่หมุนเวียนและยั่งยืน เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าในบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งทุนการศึกษา และเป็นพื้นที่สีเขียว ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งก็ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันนี้นับเป็นปีที่ 4 มีโรงเรียนเข้าร่วมแล้วกว่า 240 โรงเรียน และปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 120,000 ต้น สำหรับการมอบทุนพัฒนาโรงเรียนวัดจักรสีห์แห่งนี้ ก็รู้สึกภูมิใจที่โรงเรียนจะได้นำรายได้ในส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาให้กับเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ลูกหลานของคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
โรงเรียนวัดจักรสีห์แห่งนี้ นับเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 115 คน มีครูทั้งสิ้น 12 คน และยังได้รับเลือกเป็นโรงเรียนดีศรีตำบลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จังหวัดสิงห์บุรีอีกด้วย ในการเดินทางไปมอบทุนครั้งนี้ พี่ๆดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้นำกิจกรรมสนุกสนานที่สอดแทรกความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไปฝากน้องๆถึงโรงเรียนกันเลย เพื่อสร้างจิตสำนึกช่วยกันดูแลโลกของเราใบนี้ให้น่าอยู่ ซึ่งก็สร้างเสียงหัวเราะและความสุขจากพี่สู่น้อง รวมทั้งมีผู้ปกครองและชาวบ้านในชุมชนมาร่วมสนุกด้วย เพราะนั่นคือวิถีชีวิตของชุมชนที่มีส่วนร่วมกับโรงเรียน เป็นสังคมที่ดูแลเกื้อกูลกัน
นายสุชาติ เอี่ยมสุภา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจักรสีห์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการว่า “โดยตอนนั้นดั๊บเบิ้ล เอ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือการเปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งก็รู้สึกสนใจ เพราะโรงเรียนก็มีพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร คิดว่าน่าจะสามารถปลูกต้นกระดาษเพื่อต่อไปจะได้มีทุนมาพัฒนาโรงเรียนได้บ้าง จึงเข้าสมัครได้รับต้นกระดาษมาปลูก โดยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นป.4-ป.6 มาช่วยกันดูแลต้นไม้ ก็เป็นการปลูกฝังให้เด็กๆได้สัมผัสกับธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนรายได้จากการปลูกต้นกระดาษในครั้งนี้ จะนำไปเป็นทุนขยายผลสร้างแปลงปลูกผัก โรงเพาะเห็ดเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน เพราะเราได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวันฟรีให้นักเรียนถึงแค่ชั้นป.6 ส่วนนักเรียนชั้นม.1-ม.3 ทางโรงเรียนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง จึงคิดว่าการสร้างสวนเกษตรกินได้นี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระและทำให้เด็กๆได้รับโภชนาการที่ดีขึ้น ก็ต้องขอขอบคุณบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีโครงการที่มีประโยชน์แบบนี้ ทำให้โรงเรียนสามารถสร้างทุนเพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง”
ด.ญ.จันทิมา สุขะ (น้องพลอย) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวถึงการมีส่วนร่วมโครงการฯว่า “ก็มีส่วนร่วมดูแลต้นกระดาษในแปลงหลังโรงเรียน โดยร่วมกับเพื่อนๆช่วยรดน้ำต้นไม้ ชอบที่โรงเรียนมีต้นไม้ เพราะดูแล้วสดชื่น และช่วยลดโลกร้อน สำหรับพลอยก็อยากให้ทุกคนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม วิธีง่ายๆก็คือ เก็บขยะ และรู้จักการแยกขยะ เช่น ขวดน้ำพลาสติกก็จะแยกไปขายต่อเป็นขยะรีไซเคิล หรือการขี่จักรยานมาโรงเรียนหรือถ้าไม่ไกลก็เดินมาโรงเรียนก็ได้ค่ะ ไม่เกิดมลพิษ”
นอกจากน้องพลอยที่มีหัวใจสีเขียวแล้ว ก็ยังมี ด.ช.ณัฐมนต์ ศักดิลาภ (น้องภีม) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รักโลกไม่แพ้กัน ได้กล่าวว่า “ปกติผมช่วยพ่อแม่ทำสวนผัก ก็เลยชอบการปลูกต้นไม้ไปด้วย สำหรับต้นกระดาษที่โรงเรียนปลูกก็มีส่วนช่วยพรวนดิน ถากหญ้า เพื่อให้ต้นไม้โตเร็ว มีต้นไม้แล้วรู้สึกเย็นสบาย และก็อยากฝากถึงเพื่อนๆช่วยลดโลกร้อนกัน เช่น การปิดไฟที่ไม่จำเป็น นอกจากประหยัดการใช้พลังงานแล้ว ยังช่วยให้โรงเรียนประหยัดค่าไฟได้ด้วยครับ”
และปิดท้ายกิจกรรม ดั๊บเบิ้ล เอ ได้มอบหนังสือดีเพื่อการเรียนรู้กว่า 100 เล่ม ให้กับห้องสมุดของโรงเรียน ส่งเสริมการปลูกปัญญาและสังคมรักการอ่าน เพราะหนังสือคือสื่อสร้างปัญญาที่มีค่า สำหรับโรงเรียนหรือนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษ ปลูกปัญญาโรงเรียนในชนบทปี 4 ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าโครงการฯ ก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ดั๊บเบิ้ล เอ โทร.085 835 1389 หรือ 085 835 3214