มาล่าสุด บริษัท เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และ บริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด ได้ส่งภาพยนตร์ช็อทแอนิเมชั่นเรื่อง FEED (ฟีด) เข้าประกวดใน งาน Short. Sweet. Film Fest (ช็อท สวีท ฟิล์ม เฟส) ซึ่งประกวดประเภทภาพยนตร์สั้นขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าผลงานช็อทแอนิเมชั่นของคนไทยเรื่อง FEED ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Best Animation 2014 (เบสแอนิเมชั่น 2014) จากงานดังกล่าว ข่าวดีอย่างนี้ทำเอาทีมงานผู้ผลิตยิ้มกันถ้วนทั่ว เพราะนับเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จเรื่องการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นของคนไทยในระดับสากล
FEED เป็นผลงานการสร้างสรรค์จากฝีมือทีมงานคุณภาพ ซึ่งมี คุณประภาส ชลศรานนท์ ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ อันดับต้นๆ ของประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ มี พานิชย์ สดสี ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิต 1 และธุรกิจภาพยนตร์ ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ และ เอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยผู้กำกับ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสุดยอดฝีมือ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไม FEED ถึงได้รางวัลชนะเลิศในครั้งนี้
FEED เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคุณยายคนหนึ่งกับสัตว์เลี้ยง ที่พล็อตเรื่องหักมุมเซอร์ไพรส์คนดูมากๆ ซึ่งใครที่อยากชมสามารถติดตามชมช็อทแอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้เร็วๆนี้ ที่แฟนเพจเวิร์คพอยท์ฯ ซึ่งรายละเอียดของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ คุณประภาส ชลศรานนท์ ได้เผยรายละเอียดให้ฟังว่า
“ ความรู้สึกแรกคือดีใจแบบเซอร์ไพรส์ว่านี่มันรางวัลระดับโลกเลยนะ เขาประกวดกันทั้งโลกแล้วชื่อประเทศไทยก็ถูกประกาศออกมา มันเป็นเรื่องน่าภูมิใจมากๆ ก่อนประกาศผลนี่ คนบางประเทศยังถามเราอยู่เลยว่าประเทศไทยเราขี่ช้างไปโรงเรียนกันอยู่แล้วเรามีโรงเรียนสอนทำแอนิเมชั่นด้วยหรือ คือเขายังคิดว่าประเทศเราด้อยพัฒนาอย่างมาก แต่พอเขาเห็นงานของเราเห็น “ยักษ์” เห็น FEED เขาก็ทึ่ง โปรดิวเซอร์ต่างชาติหลายคนพูดเลย งานสไตล์นี้ฮอลลีวูดไม่มี ในญี่ปุ่นก็ไม่มี คือเราก็คิดแบบคนไทยนี่แหละครับ ผมว่างานศิลปะของคนไทยนี่ไม่ธรรมดา มีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก ศิลปินไทย เด็กไทยมีฝีมือเรื่องนี้มาก ทีมงานสร้าง FEED มีเด็กรุ่นใหม่ๆหลายคน ปีที่ผ่านมาแอนิเมชั่นเรื่อง “ยักษ์” ได้ฉายโชว์ในหลายๆเฟสติวัล แต่ถ้าส่งประกวดเป็นเรื่องเป็นราวเรื่องนี่ถือเป็นเรื่องแรกครับ ความอยากมันเกิดขึ้นหลังจากที่เราทำแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์ แล้วฟีดแบ็คที่ยักษ์ไปฉายในประเทศต่างๆค่อนข้างดี ทำให้เราเห็นศักยภาพบางอย่างของแอนิเมชั่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นของเรา เนื้อเรื่องแบบของเรา เห็นว่าคนชาติอื่นๆเขาเข้าใจมุกแบบของเรา เราจึงนึกสนุกอยากลองทำหนังอนิเมชั่นสั้นๆไปอวดชาติอื่นๆดูบ้าง เราตั้งใจทำกันหลายเดือนอยู่นะ แม้จะมีความยาวแค่สี่นาที และไม่มีบทพูดเลย แต่เราก็แก้บทกันหลายรอบมาก ต้องพิถีพิถัน เพราะหนังจะใช้ภาษาภาพอย่างเดียว อันที่จริงหนังยิ่งสั้นยิ่งทำยาก ผู้กำกับหลายคนก็บอก ในพื้นที่น้อยๆที่เราอยากจะสื่อสารอะไรสักอย่าง เราต้องใช้พื้นที่ตรงนั้นให้คุ้มค่าและทรงพลังที่สุด
เรื่องนี้ชื่อเรื่องก็บอก FEED การเลี้ยงดู ประเด็นความคิดเรื่องการเลี้ยงการประคบประหงม มันทำให้ผมนึกเทียบไปเทียบมาระหว่างสังคมกับประเทศ ระหว่างประเทศใหญ่กับประเทศเล็ก ผู้ปกครองกับประชาชน ทุกวันนี้มนุษย์กับมนุษย์ดูแลกันแบบไหน ในบางอารมณ์ผมก็อยากแดกดันว่าคุณแน่ใจหรือว่าคุณอยู่ในโซ่ข้อไหนของห่วงโซ่อาหาร ภาพยนตร์ทุกเรื่องไม่ว่าจะคนแสดงหรือเป็นแอนิเมชั่นต้องเริ่มด้วยแนวความคิดก่อน หลังจากนั้นมันก็จะถูกกลั่นออกมาเป็นบท ผมให้ความสำคัญของบทมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ผมมักจะใช้เวลากับตรงนี้มากที่สุด อาจจะเป็นเพราะความเป็นนักเขียนของผมด้วย ผมจึงมักจะแก้บทแก้เนื้อเรื่องจนกว่าจะพอใจ
หลังจากประกวดเสร็จแล้วก็คงเอามาฉายให้คนไทยได้ดูทางทีวี และทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค การทำหนังสั้นนี่โดยมากเขาจะไม่ได้ทำเพื่อการค้า หนังสั้นจึงค่อนข้างเป็นเรื่องของศิลปะ เรื่องของการทดลอง เรื่องของแนวความคิดเป็นส่วนใหญ่ รางวัลนี้จะทำให้คนในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นทั้งโลกได้ยินชื่อประเทศไทย ผมว่าก้าวต่อไปของแอนิเมชั่นไทยคือเราจะคิดทำขายแต่ในประเทศไม่ได้แล้ว และการที่เราชนะรางวัล best animation มามันทำให้คนชาติอื่นยอมรับอย่างที่สุดแล้วครับ”