ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของ CIMBS สะท้อนถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินคือ CIMB Group จากประเทศมาเลเซีย ฟิทช์มองว่า CIMBS เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ CIMB Group ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการที่ CIMB Group เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท รวมทั้งการที่ CIMBS เป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (universal banking) และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CIMB Group การใช้ชื่อบริษัทร่วมกันกับกลุ่มและมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันกับกลุ่ม (integration) ในระดับสูง
CIMBS เป็นบริษัทลูกของ CIMB Securities International Pte Ltd หรือ CSI ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของกลุ่มและเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงทั้งหมดใน CIMBS CIMB Group มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของ CIMBS ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง
CIMBS ได้รับการวางตัวให้เป็นตัวแทนของกลุ่ม CIMB ในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย CIMB Group เพิ่มทุนให้กับ CIMBS ในปี 2554 และ 2555 และยังให้การสนับสนุนในด้านเงินกู้ยืมและการค้ำประกันแก่บริษัท นอกจากนี้ CIMBS มีการเชื่อมโยงการดำเนินงานกับกลุ่มในระดับที่สูง เช่น สายงานธุรกิจที่สำคัญจะทำงานขึ้นตรงกับสายงานในธุรกิจเดียวกันของกลุ่มด้วย การใช้ทรัพยากรณ์ร่วมกัน ระบบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการร่วมมือในการดำเนินธุรกิจและการแนะนำลูกค้าระหว่างกัน
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่เชื่อว่า CIMB Group มีความสามารถและจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ CIMBS นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) ถ้ามีความจำเป็น โดยการสนับสนุนจะยังคงมีอยู่ในระยะปานกลาง
ผลการดำเนินงานของ CIMBS น่าจะยังคงมีความผันผวน เนื่องจากการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทนั้นขึ้นอยู่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ในระดับที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงของบริษัท น่าจะยังคงเป็นอุปสรรคต่อผลการดำเนินงานของ CIMBS ต่อไปอีก 2 -3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าด้วยสถานะทางการตลาดของบริษัทที่เข้มแข็งขึ้น ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น และเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มที่มีชื่อเสียงในระดับภูมิภาค น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากปัจจัยลบดังกล่าวได้บ้าง
ผลการดำเนินงานของ CIMBS ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์อื่นและภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ดี บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยมีกำไรสุทธิที่ 199.2 ล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 20.3% (เทียบกับ 106.3 ล้านบาท และ 7.5% ในปี 2555) ซึ่งสนับสนุนโดยภาวะตลาดที่ดีและฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น
CIMBS เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ CIMB Group ในปี 2552 หลังจากที่ CIMB Group เข้าซื้อกิจการของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนั้นเป็นบริษัทแม่ของ CIMBS หลังจากนั้น CIMBS ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยอีก 2 แห่ง คือ บล. ซีไอเอ็มบี-จีเค (ประเทศไทย) จำกัด และ บล. ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) ในปี 2556 CIMBS มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 4.5% ของปริมาณการซื้อขาย เป็นอับดับที่ 8 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 33 แห่งในประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของความสามารถ และ/หรือ แนวโน้มที่ CIMB Group จะให้การสนับสนุนแก่ CIMBS น่าจะส่งผลกระทบต่ออับดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBS
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของประเทศไทยที่ ‘A-’ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในเชิงเปรียบเทียบของอันดับเครดิตภายในประเทศ และอาจส่งผลให้ CIMBS ถูกปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ ในขณะที่การลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวอาจส่งผลให้ CIMBS ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ