การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Fitch Ratings

อังคาร ๑๑ มีนาคม ๒๐๑๔ ๑๔:๐๙
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ที่ Fitch ได้ประกาศเมื่อเวลา 18.00 น. (เวลาประเทศไทย) ของวันที่ 6 มีนาคม 2557 ว่า Fitch ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Foreign and Local Currency Long-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ โดยมีมุมมองที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) รวมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิ์สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาท (Senior Unsecured Foreign and Local Currency Bonds) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ พร้อมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Short-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ F2 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-

ปัจจัยหลักที่มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch ในครั้งนี้ สะท้อนปัจจัยต่างๆ ดังนี้

- ประเทศไทยมีสถานะภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งและกรอบนโยบายทางการเงินที่มั่นคงในขณะเดียวกันตัวชี้วัดหลักด้านการคลังภาครัฐอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ปัจจัยที่แข็งแกร่งเหล่านี้ได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐและความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศที่ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2556

- อย่างไรก็ดี แนวโน้มด้านการเมืองในระยะใกล้ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้นอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจยาวนานขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาด ซึ่งในที่สุดอาจจะสร้างแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

- ในปี 2556 ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเปรียบเทียบ ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก อย่างไรก็ดี ความไม่สงบทางการเมืองกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดย Fitch คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 และ 3.7 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2556 และอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ 3.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในที่สุดอาจจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในทางกลับกัน มาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับความน่าเชื่อถือของไทย

- ภาคการคลังของไทยเกือบทั้งหมดยังคงมีเสถียรภาพ โดยสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 31.9 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ที่อยู่ที่ร้อยละ 40 และ 53 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง Fitch เห็นว่า ในระยะสั้นนี้ ความผันผวนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นได้จำกัดอำนาจรัฐบาลรักษาการในการดำเนินการตามแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ซึ่งจะหักกลบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่อาจลดลง รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้และรายจ่าย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจทำให้ความน่าเชื่อถืออ่อนแอลงหากประเทศไทยไม่สามารถผลักดันมาตการและการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตได้สำเร็จ

- Fitch ประมาณการฐานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิของไทยไว้ที่ร้อยละ 38 ของ GDP ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -11 และ 18 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิที่เข้มแข็งได้ช่วยลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศหรือภาวะความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

- Fitch เชื่อว่า ภาคธนาคารของประเทศไทยแข็งแรงเพียงพอที่จะเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยากลำบากขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อภาคเอกชนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 151.7 ในไตรมาส 3 ของปี 2556 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และนับเป็นจุดอ่อนของความน่าเชื่อถือของประเทศ เนื่องจากรัฐอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาระผูกพันที่อาจจะก่อให้เกิดหนี้ในอนาคตขึ้นหากต้องให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธนาคารในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนลดความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ

แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้รับการยืนยันในระดับที่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ในการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch จึงไม่ได้คาดว่าจะมีพัฒนาการของเหตุการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือในระยะนี้ ทั้งนี้ Fitch ได้ชี้แจงปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับเพิ่ม/ลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต ดังนี้

พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลในเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

- การขาดรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างแท้จริงจนก่อให้เกิดความอ่อนแอในการกำหนดกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจ

- ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจตึงเครียดและยืดเยื้อยาวนานขึ้นจนบั่นทอนแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลาง

- การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของระดับหนี้สาธารณะของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของภาระผูกพันที่อาจก่อให้เกิดหนี้ในอนาคต พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลในเชิงบวกต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

- การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยไม่ก่อเกิดความไม่สมดุลในด้านต่างๆ ขึ้น รวมถึงการลดช่องว่างทางด้านรายได้ให้เข้าสู่ระดับเดียวกับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A อาจส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ

- สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เข้าสู่เสถียรภาพได้รวดเร็วกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้

สมมติฐานหลักในการวิเคราะห์

Fitch มีสมมติฐานว่า ความตึงเครียดระหว่างประเทศในภูมิภาคซึ่งรวมถึงข้อพิพาทด้านพรมแดนของไทยกับกัมพูชา และความขัดแย้งทางดินแดนระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่ยังคงดำเนินอยู่จะยังไม่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของโลกจะเติบโตที่ร้อยละ 2.9 และ 3.2 ในปี 2557 และ 2558 เมื่อเทียบกับประมาณการอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2556

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5522

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version