นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการ หรือ เอ็มแอนด์เอ (M&A - Merger & Acquisition) เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทใหญ่ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกจนกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบนั้นคือ สหรัฐอเมริกา และขยายไปยังส่วนต่างๆของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยการเข้าซื้อและการควบรวมกิจการเริ่มเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเช่นกัน อาทิ บิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ซีพีซื้อแม็คโคร การควบรวมกิจการของธนาคารศรีนครกับธนาคารนครหลวงไทย ออฟฟิคเมทและTrenday.com เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น บวกกับอาเซียนที่กำลังจะเปิดตลาดจึงทำให้แต่ละ ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
นางสาววรรณวีรา ฯ กล่าวต่ออีกว่า ในวาระครบรอบ 50 ปีทีเอ็มเอ จัดสัมมนาภายใต้ประเด็น “Trend of the Future : M&A” (Merger & Acquisition) หรือ “เทรนด์แห่งอนาคต : การเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการ” ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางการบริหารจัดการที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการเพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์กรในยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกันทีเอ็มเอได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำ มารวมตัวร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กับกลุ่มนักธุรกิจ โดยมีทิศทาง แนวโน้ม ความสำคัญของการบริหารจัดการด้านต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจเมื่อองค์กรเกิดการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการประกอบด้วยหลายประเด็นหลักๆ เช่น ความสาคัญของการเข้าซื้อและการควบรวมกิจการต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน การใช้จุดแข็งของแต่ละองค์กรเมื่อควบรวมกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระบวนการในการปรับตัวและการผสมผสานบุคลากรจากองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น
“ทีเอ็มเอมุ่งหวังผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันมาอย่างต่อเนี่อง เพื่อให้นักธุรกิจไทยได้เตรียมความพร้อมและหวังว่ากิจกรรมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับกลุ่มนักธุรกิจไทยที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนที่สอดคล้องต้องกันในทางธุรกิจ แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องของพนักงานที่ทุกองค์กรจะต้องเผชิญ ซึ่งการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตนเองนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นและกลยุทธ์หนึ่งที่ธุรกิจทั่วโลกใช้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” นางสาววรรณวีรา สรุป