จริงหรือมั่ว? กรมวิทย์ฯ เตรียมพิสูจน์ “ทุเรียนเทศ” รักษามะเร็ง

พฤหัส ๒๐ มีนาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๑๔
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมศึกษาวิจัยสมุนไพรทุเรียนเทศ หลังมีกระแสในโลกสังคมออนไลน์ว่าใบทุเรียนเทศสามารถรักษาโรคมะเร็ง

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า มีประชาชนสอบถามข้อมูลเรื่องสมุนไพรทุเรียนเทศเข้ามาที่สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กันอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการเผยแพร่สรรพคุณของใบทุเรียนเทศว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัดทางโลกออนไลน์ และมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศวางจำหน่ายรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ชาชง รวมถึงมีการแนะนำให้ใช้ชาชงใบทุเรียนเทศร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดนั้น ขณะนี้สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมรวบรวมใบทุเรียนเทศ มาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการ หลังมีรายงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า พืชชนิดนี้มีสารที่มีพิษต่อเซลล์ประสาทและหากบริโภคในปริมาณมากจะมีผลต่อการทำงานของไต

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ทุเรียนเทศ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 5-6 เมตร อยู่ในวงศ์เดียวกับน้อยหน่า ลัษณะมีผลสีเขียวรูปกลมรี มีหนามนิ่มที่เปลือก รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย คนไทยนิยมนำทุเรียนเทศมาประกอบอาหาร ส่วนเมล็ดใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้ และใบมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ไอ ปวดตามข้อและความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้จากรายงานการวิจัยของต่างประเทศพบว่า สารสกัดจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ตับ ตับอ่อนและผิวหนังในหลอดทดลอง จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดมีฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ และมีรายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของก้อนเนื้องอกผิวหนัง นอกจากนี้สารสกัดยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของมะเร็งตับอ่อนและยังสามารถลดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย เช่น ตับ ต่อมน้ำเหลือง และรังไข่ ซึ่งจากการแยกสารสำคัญที่มีอยู่ในทุเรียนเทศที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งพบว่า คือ สารกลุ่ม annonaceousacetogenins

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพืชสมุนไพรทุเรียนเทศสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษามะเร็งหรืออาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในอนาคต แต่ก็มีข้อมูลการวิจัยพบว่า สารแอนโนนาซิน ที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้มีพิษต่อเซลล์ประสาทนอกจากนี้ในรายงานการวิจัยของประเทศกานา ยังพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไต ดังนั้นการนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยต่างๆ อีกมากมาย เช่น การศึกษาด้านกลไกออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง การส่งสัญญาณภายในเซลล์ การแยกสารสำคัญออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการศึกษาด้านพิษวิทยาและความปลอดภัย ซึ่งสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะรวบรวมวัตถุดิบใบทุเรียนเทศในประเทศไทย มาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นข้อมูลคุ้มครองผู้บริโภค และวางแผนศึกษาวิจัยเพื่อหาทางนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก