มร. ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด กล่าวว่า เงินกู้มูลค่า 22,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ของสถาบันการเงินไทยชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารไทยมีศักยภาพและความสามารถสนับสนุนสินเชื่อแก่โครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ โดยความสำเร็จครั้งนี้ยังตอบสนองกลยุทธ์การสร้างมูลค่าองค์กร เพราะบริษัทได้ออกแบบและจัดรูปแบบสินเชื่อให้เหมาะสมกับโครงการ และสร้างมูลค่าจากการลงทุนในโครงการให้กับบริษัท ที่สำคัญ สินเชื่อดังกล่าวมีกลไกที่ยืดหยุ่น ช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวสามารถบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำ
“โครงการเซเปียนเซน้ำน้อย เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในสปป.ลาว ที่ข้อกำหนดในสัญญาระบุให้โรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ากับสายส่งของโครงการได้ โครงการนี้มีกำลังการผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ซึ่งกระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายใน สปป. ลาว การพัฒนาโครงการที่มีรูปแบบเฉพาะตัวเช่นนี้ ทำให้สถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทเด่นชัดยิ่งขึ้น” มร. ยอง จู ชอย กล่าวเพิ่มเติม
บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 26 บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 25 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 25 และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้นร้อยละ 24 โครงการเซเปียนเซน้ำน้อย มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2561 ซึ่งไม่เพียงจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาวเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย