อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯที่ปรับตัวลดลงเกิดจากความกังวลต่อปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อและยังไร้ทางออก ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงของภาคเกษตรทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมียอดขายลดลง ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายภายในประเทศ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลางที่เป็นกลุ่มตัวอย่างกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ อีกทั้งต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และเห็นว่าการค้าชายแดนจะเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ในภาวะที่กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนมกราคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจาก เดือนมกราคม ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 80.2 ลดลงจากระดับ 84.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, และอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น
ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.0 ลดลงจากระดับ 100.1 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 86.7 ลดลงจากระดับ 87.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ ,ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่นเป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.6 ลดลงจากระดับ 101.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 90.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 88.3 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น,อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า,อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.8 ลดลงจากระดับ 98.1 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้นจากในเดือนมกราคม
ภาคกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 81.4 ลดลงจากระดับ 82.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่าย ประกอบกับรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงทำให้กระทบต่อยอดขายของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลางที่เป็นกลุ่มตัวอย่างกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน มียอดขายในประเทศลดลง และสินค้าประเภทหม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปประเทศ อินเดีย อินโดนีเชีย ลดลง ด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรมียอดขายลดลง ขณะที่อุตสาหกรรม ยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายลดลง เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.2 ลดลงจากระดับ 98.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 91.1 ลดลงจากระดับ 94.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคเหนือ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาคเหนือลดลง
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากสินค้าประเภท เส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าเด็ก เสื้อไหมพรม มียอดขายในประเทศลดลง เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดการส่งออกไปประเทศในแถบเอเชีย อเมริกา ลดลง ด้านอุตสาหกรรม เซรามิก สินค้าประเภทเครื่องเคลือบดินเผา,ชุดอาหารมียอดการส่งออกไป ญี่ปุ่น,ไต้หวัน ลดลง นอกจากนี้สินค้าประเภทเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่สินค้าหัตถอุตสาหกรรม สินค้าพื้นเมือง หัตถกรรมต่างๆ เช่น เครื่องปั้น ดอกไม้ประดิษฐ์ มียอดขายในประเทศลดลง ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ลดลงจากระดับ 101.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 87.8 ปรับลดลงจากระดับ 91.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งลบผลต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหารายได้เกษตรกรที่ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการบางส่วนมีการชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์การเมือง อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เนื่องจากสินค้าประเภทหินอ่อนแปรรูป โม่,บด,ย่อยหิน มียอดขายในประเทศลดลงด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาว มียอดผลิตในประเทศลดลง รวมทั้งยอดการส่งออกไปประเทศอินเดีย ลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์ประเภท กล่องกระดาษ สิ่งพิมพ์การศึกษา มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 101.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 87.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของผู้ประกอบการภาคตะวันออกในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก เม็ดไนลอน มียอดขายจากประเทศในแถบอาเซียนเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์กรดซัลฟูริก 98% สำหรับยางพารา มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศ จีน เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนพลาสติก มียอดขายไปประเทศ ยุโรป, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.8 ลดลงจากระดับ 100.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
และ ภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 87.8 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 87.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับการประกอบการโดยรวมของผู้ประกอบการภาคใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการสำรวจ พบว่า อุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากมียอดสั่งซื้อถุงมือยาง น้ำยางเข้มข้นธรรมชาติ จากประเทศ จีน อินเดีย อเมริกา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลปาล์มดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ มียอดขายปุ๋ยชีวภาพและน้ำสกัดชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 ลดลงจากระดับ 100.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับลดลงจากเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในต่างประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 86.4 ลดลงจาก 88.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.8 ลดลงจากระดับ 101.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 82.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 77.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง,อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.8 ลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันและสภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมกราคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง อีกทั้งผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรม และแก้ปัญหาราคา ปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ