สช. เปิดแนวรุกประเมินผลกระทบสุขภาพ สานพลังจุฬาฯ เสริมทีมวิชาการช่วยท้องถิ่น

จันทร์ ๒๔ มีนาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๐๗
เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ อาคารจามจุรี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ นพ.โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ตามความร่วมมือ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใน ๓ เรื่อง คือ 1.พัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ๒. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ๓. สนับสนุนและส่งเสริมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในภาคส่วนต่างๆในสังคม โดยเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ ๒ ปี

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ในการลงพื้นที่สัมผัสกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังสามารถผลักดันประเด็นทางวิชาการต่างๆให้นำไปสู่กระแสและทิศทางหลักของสังคมได้อีกด้วย จึงเชื่อมั่นว่าการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้งานขับเคลื่อนและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย ก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทางสช.พร้อมจะสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ อาทิ การประสานงานเพื่อจัดหาแหล่งทุน เพื่อสนับสนุนการวิจัยหรือการฝึกอบรม เป็นต้น

ปัจจุบัน สช.ได้สนับสนุนเครือข่ายด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ และมีบันทึกความร่วมมือ เป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังของกลุ่มเครือข่ายต่างๆให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน หรือแม้แต่ภาคประชาสังคม ดังนั้น สช.และจุฬาลงกรณ์ฯ จึงสามารถบูรณาการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆได้ดียิ่งขึ้น

“แนวทางที่สช.ขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ คือการสานพลังกับสถาบันการศึกษา ตามความสนใจและเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน รวมถึงความต้องการพัฒนา ในด้านหนึ่งด้านใดเป็นพิเศษ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในชุมชน หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความถนัดด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดดเด่นเรื่องการจัดทำนโยบายสาธารณะ สช.จะเข้าไปสานพลัง ซึ่งการลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกัน จะทำให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆมีความชัดเจนยิ่งขึ้น”

นพ.อำพล กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนไทยในอนาคต จะต้องทำให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน มีศักยภาพในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งวิธีการสำคัญคือยกระดับให้ชาวบ้านในพื้นที่และผู้นำชุมชน มีองค์ความรู้และดำเนินการได้ด้วยตัวเอง โดยบทบาทของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานภาควิชาการจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงให้เท่านั้น

ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์การพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานทั้งสองแห่ง โดยในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย ประกอบจากผู้แทนด้านวิชาการ ๗ คณะ ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัย ๔ แห่ง และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมอบให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ความรู้และสติปัญญาแก่สังคมต่อไป

รัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

เพิ่มอำนาจ-คุ้มครองประชาชนด้านสุขภาวะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนด การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไว้ในหมวดสิทธิชุมชน มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

ขณะที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดสาระสำคัญเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามมาตรา ๕ ว่า “บุคคลมีสิทธิในการดํารงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดําเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม” และมาตรา ๑๑ ว่า “บุคคลหรือคณะบุคคล มีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน และมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ รวมทั้งมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลคําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว”

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)จึงแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยได้จำแนกกระบวนการและขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามกรอบการบังคับใช้ในกฎหมาย และอำนาจพันธกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวข้องการดำเนินงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ศักยภาพของบุคลากรระดับต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version