แพทย์เผยสถิติคนไทยป่วยเป็น “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” แบบไม่รู้ตัวมากขึ้น

จันทร์ ๒๔ มีนาคม ๒๐๑๔ ๑๗:๐๑
แพทย์เผยสถิติคนไทยป่วยเป็น “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” แบบไม่รู้ตัวมากขึ้น

โดย นายแพทย์ โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

สภาวะตึงเครียดในปัจจุบันส่งผลให้จำนวนผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่โรคมะเร็งเท่านั้น และจากสถิติที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ 30% ของจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่ปรากฏอาการหรือมีสัญญาณของโรคที่น่าสงสัยใดๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ จนกระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็เมื่อพบว่าอาการของโรคถึงขั้นรุนแรงแล้ว

นายแพทย์ โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า สถิติผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมาประมาณว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคดังกล่าว สูงถึงกว่า 10 ล้านคน และคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า จำนวนการตายจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 13 ล้านคนมาจากประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ในประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 เท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนสาเหตุของการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้นพบว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ การทำงานที่แข่งขันกับเวลา ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันสูง เบาหวาน ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และอาหาร

จากสถิติที่ผ่านมามักพบว่า เพศชายมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี, ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มีผลต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่จะมีผลกระทบไม่เท่ากันในเพศต่างกัน เช่น โรคเบาหวานและอัตราส่วน HDL/total cholesterol ต่ำมีผลในผู้หญิงมากกว่า การสูบบุหรี่มีผลในผู้ชายมากกว่าภาวะความดันโลหิตสูงมีผลต่อทั้งสองเพศ โดยอาการเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายมีปวดร้าวขึ้นไปตามคอ อาการเป็นมากขึ้นเวลาออกแรง นั่งพักจะดีขึ้น ในรายที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากจนตัน จะทำให้มีการขาดเลือดอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออกตัวเย็น ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้ ภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะเพิ่มขึ้นตามระดับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) และ LDL cholesterol สูง HDL cholesterol ต่ำ(จากการศึกษาของ Framingham พบว่าอัตราเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเพิ่มขึ้น 25% สำหรับทุกๆ 5mg/dL ที่ลดลงต่ำกว่าค่ามัธยฐานของ HDL cholesterol ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง) กล่าวได้ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้นเกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือด ผลจากการมีไขมันและการสะสมของหินปูนไปเกาะเส้นเลือดแดง จนเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือด ปริแตกเกิดขึ้น จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง บางรายอาจทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ส่วนเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น

สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ได้รับความนิยม คือการขยายหลอดเลือดที่ตีบด้วย บอลลูน และใส่ขดลวดค้ำยัน ในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง การรักษาที่เป็นมาตรฐาน มักจะใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่รู้จักกันว่า “การทำบายพาส” โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้าย และเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านใน มาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ กรณีแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัด ส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป หลายตำแหน่ง แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30-40 ปี อาจรักษาด้วยการทานยาอาจช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียว ก็ทานยาหรือใส่ขดลวดบอลลูนได้ ปัจจุบันการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจของไทย มีการทำทั้งสองแบบ แต่ผ่าตัดแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ เป็นเทคโนโลยีแนวใหม่ที่นำมาใช้เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แบบเดิมหรือผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ทำกันมากว่า 40 ปี ในส่วนโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพของเราได้มีการพัฒนาการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ ซึ่งให้ผลการรักษาดีกว่าแบบเดิม มีโอกาสต้องให้เลือดน้อยลงมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการต้องให้เลือด และอื่นๆก็จะลดลง

แม้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามคุณหมอโชคชัยแนะนำว่า การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการแก้ไข การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง 23% นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับ HDL cholesterol ลดความดันโลหิต การลดน้ำหนัก และช่วยให้การคุมเบาหวานดีขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า การทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง จะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบตันลงได้ถึง 40-50% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานเส้นใยอาหารต่ำอีกด้วย ควรหากิจกรรมคลายความเครียดทำจิตใจให้สบาย หัวเราะบ้าง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาโอกาสตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี คุณหมอฝากทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ