นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเติบโตของ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และส่งผลต่อเนื่องมายังราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ได้ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง นอกจากนี้ ปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่มีความรุนแรงอย่างมากในปี 2556 ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในไตรมาสแรกของปี 2557
สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปี 2557 สาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 สาขาปศุสัตว์จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 สาขาประมงจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 สาขาบริการทางการเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 - 3.2
ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 ในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (ลำไยและทุเรียน) ซึ่งผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทนพืชที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ประกอบกับเกษตรกรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงดูแลต้นอ้อย รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากโรงงานน้ำตาลทรายและเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (มังคุดและเงาะ) โดยข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปี 2556 ทำให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ส่งผลกระทบต่อต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงช่วงออกรวง ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต ส่วนมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลงจากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน อีกทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแซมในสวนยางพาราไม่สามารถปลูกได้อีก เพราะยางพารามีการเจริญเติบโตขึ้น ด้านสับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อนจัดตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ พื้นที่เก็บเกี่ยวก็ลดลงจากการรื้อถอนสับปะรดที่ปลูกแซมในสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาล ขณะที่ผลผลิตใหม่จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดประมาณเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี
ด้านสินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยมันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบของลานมันเส้นและโรงแป้งมัน ในการเร่งผลิตสินค้าเพื่อเก็บเข้าสต็อก รวมทั้งความต้องการจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่มีความต้องการมันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนผลไม้ที่มีราคาเพิ่มขึ้น คือ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการภายในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ ได้แก่ เวียดนาม มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา โดยข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวมีคุณภาพไม่ค่อยดี อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลทรายดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้น ขณะที่ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และน้ำนมดิบ เนื่องจากสถานการณ์การผลิตโดยรวมอยู่ในภาวะปกติ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การผลิตปศุสัตว์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมมีราคาเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2557 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยราคาเฉลี่ยของไข่ไก่และสุกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.26 และ 19.32 ส่วนราคาไก่เนื้อปรับขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาน้ำนมดิบปรับลดลงเล็กน้อยตามคุณภาพของน้ำนมดิบ
สาขาประมง ลดลงร้อยละ 1.3 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญของไทยประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ต่อเนื่องมาจากปี 2556 แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเพื่อแก้ไขแล้ว แต่เนื่องจากเกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์โรคดังกล่าว จึงทำการผลิตไม่เต็มที่ ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัมที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 267 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 148 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80.07 เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงความต้องการส่งออกที่มีอย่างต่อเนื่อง
สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ คือเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การบริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย
สาขาป่าไม้ใน ลดลงประมาณร้อยละ 3.3 เนื่องจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สำคัญหลายชนิดของหมวดป่าไม้ลดลง ได้แก่ น้ำผึ้ง ครั่ง ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ซุง และรังนก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น เยอรมนี อินเดีย และจีน ที่มีการนำเข้าน้ำผึ้ง ครั่ง และไม้ยูคาลิปตัส ลดลง เพราะการเพิ่มมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกถ่านไม้กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น ประสบภัยหนาวที่รุนแรงกว่าทุกปี ทำให้มีความต้องการถ่านไม้ เพื่อให้ความอบอุ่นและใช้ประกอบอาหารเพิ่มขึ้น