ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่ดีงาม ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญกับความเสื่อมถอยด้านค่านิยม คุณธรรมและจริยธรรม ทำให้เด็กและเยาวชนไทยขาดภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติของวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันพบปัญหามากมายเกิดขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาเด็กติดเกมและใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตมากเกินไป รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังที่ปรากฎในสื่อมวลชนมากมาย เกี่ยวกับหญิงสาวถูกล่อล้วงผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ อีกทั้งพบปัญหาเด็กนักเรียนมั่วสุมตามโรงแรมจำนวนมากในบางจังหวัด ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
“ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะต้องช่วยกันวิเคราะห์ถึงปัญหาของแต่ละชุมชนในทุกจังหวัดเป็นสำคัญว่าจะเข้าไปขับเคลื่อนอย่างไรเพื่อการช่วยแก้ไขปัญหา และทำให้สังคมเกิดความอบอุ่นได้ ที่สำคัญกิจกรรมทั้งหมดต้องสอดแทรกเรื่องของสถาบันหลักของสังคม คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยอาจจะใช้สถานศึกษาเป็นหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ สู่การสร้างสังคมต้นแบบ เต็มไปด้วยความสุขบนฐานของวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อร่วมกันกำหนดโมเดลตรงนี้ได้แล้ว จะเกิดเป็นแผนพัฒนาสังคมที่สามารถนำไปขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศได้ และเห็นควรต้องบรรจุไว้ในข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ. รวมถึงเทศบาล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในพื้นที่ได้มากที่สุด” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว