นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Sarawut Charuchinda, Head of Commercial Lending Group of Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยว่า ธนาคาร ได้ทำการจัดสัมมนาใหญ่ประจำปีของสายสินเชื่อธุรกิจมาโดยต่อเนื่องทุกปีแยกตามธุรกิจ และในปีนี้พิเศษจากทุกปี ธนาคารได้จัดรวมทุกกลุ่มลูกค้าของสินเชื่อธุรกิจในงานเดียว ซึ่งมีลูกค้าและผู้สนใจเข้าร่วมราว 1,000 คน โดยมีนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้าร่วมให้มุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นำโดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงต่างๆ มากมาย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ต้องการต่อยอดองค์ความรู้ให้กับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญในแต่ละด้าน
“ปัจจุบันสินเชื่อธุรกิจมียอดการให้สินเชื่ออยู่ที่ 49,433 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เป็นสัดส่วน 26% ของสินเชื่อรวม) และในปี 2557 ธนาคารให้ความสำคัญ เน้นการขยายฐานลูกค้าโดยการต่อยอดไปในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้สินเชื่อในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม สินเชื่อธุรกิจขนส่ง สินเชื่อธุรกิจฟลอร์แพลน สินเชื่ออุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง สำหรับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นสินเชื่อหลัก และในปีนี้มุ่งเน้นการให้สินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเดิม ส่วนกลุ่มลูกค้าใหม่จะเจาะกลุ่มเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ในโครงการแนวราบบนพื้นที่ศักยภาพ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดีคือสินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม และธุรกิจขนส่ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบวกทางการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะโอกาสของธุรกิจในพื้นที่จังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาค และจังหวัดที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้างที่ได้เริ่มให้บริการเมื่อปลายปี 2556 นั้น จากการวิเคราะห์พบว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังมีโอกาสในการขยายตัวได้สูงในระยะยาวทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นมี 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง (รายกลางและรายใหญ่) ผู้รับเหมารายใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำเข้าเครื่องจักรและผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องจักร ในส่วนสินเชื่ออุตสาหกรรม (เดิมคือสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์) จะขยายการให้สินเชื่อไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เดิม คือ อุตสาหกรรมกระดาษและพลาสติกอีกด้วย”