พร้อมกันนี้ ฟิทช์ ยังประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของ UOBT และ CIMBT ที่ ‘A-’ และ ‘BBB’ ตามลำดับ รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT, ICBCT, MBKET, และ CIMBT รวมทั้งอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตสนับสนุนของ UOBT และ CIMBT สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารและสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง คือ United Overseas Bank Limited หรือ UOB (‘AA-’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC (‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Malayan Banking Berhad หรือ Maybank (‘A-’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบและ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB ฟิทช์มองว่าธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยทั้ง 4 แห่ง เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันกับกลุ่ม (integration) ในระดับสูง การสนับสนุนทางการเงินที่ผ่านมาในอดีต และการถือหุ้นเกือบทั้งหมดจากธนาคารแม่
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCTL สะท้อนถึงบทบาทของ ICBCTL ในการเป็นบริษัทลูกหลัก (core subsidiary) ของ ICBCT โดย ICBCTL มีบทบาทสำคัญต่อกลยุทธ์ของธนาคารในด้านธุรกิจสินเชื่อรายย่อย อีกทั้ง ICBCTL ยังมีสัดส่วนรายได้และขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่เมื่อเทียบกับธนาคารแม่ โดยสินเชื่อของ ICBCTL มีสัดส่วนเป็น 38% ของสินเชื่อรวมของ ICBCT ณ สิ้นปี 2556
แนวโน้มอันดับเครดิตของ UOBT, ICBCT, ICBCTL, และ MBKET สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่แต่ละแห่ง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ CIMBT สะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่เชื่อว่าความสามารถและโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติแก่ CIMBT ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ UOBT ที่ระดับ ‘bb+’ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่จำกัด แม้จะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว รวมทั้งโครงสร้างเงินกู้ยืม (funding) และความสามารถในการทำกำไรที่ยังไม่แข็งแกร่งนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่สูงกว่า อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงการที่ UOBT มีรากฐานการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UOB และการมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT ที่ ‘bb-’ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่จำกัด รวมทั้งคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนที่อ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญได้มีการปรับตัวดีขี้นบ้าง ฟิทช์คาดว่าความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ CIMBT น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน
อันดับเครดิตตราสารหนี้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT อยู่ 2 อันดับ เนื่องจากตราสารดังกล่าวเป็นตราสารด้อยสิทธิและมีคุณสมบัติให้ธนาคารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (lower Tier 2) อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคาร 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนการที่หุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุน (capital structure) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุน
การเปลี่ยนแปลงในทางลบของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ UOB, ICBC, และ Maybank อาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของบริษัทลูก การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในความสามารถ และ/หรือ ระดับการสนับสนุนของธนาคารแม่ที่มีต่อบริษัทลูก อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทลูก ตัวอย่างเช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ในบริษัทลูก อาจส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทลูก
การปรับตัวดีขี้นอย่างมีนัยสำคัญของความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ CIMB อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT ได้รับการปรับเพิ่ม ในทางกลับกันการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญอาจส่งผลให้อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับลดอันดับ
เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT ถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ ‘A-’ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย จะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT
อันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT, ICBCT, และ ICBCTL เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่ม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency IDR) ของประเทศไทย โดยที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ ICBC ยังคงอยู่ในระดับเดิม อาจทำให้อันดับเครดิตในประเทศของ ICBCT และ ICBCTL ถูกปรับลดอันดับ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากธนาคารสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเติบโตอย่างระมัดระวังโดยไม่ทำให้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังมีจำกัดหากธนาคารยังคงมีอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นในต่างประเทศที่มีอันดับเครดิตคล้ายกัน ในขณะเดียวกัน ผลการดำเนินการที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT
การปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของฐานะการเงินโดยรวมของ CIMBT เทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในกลุ่มเดียวกัน น่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ทั้งนี้การปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวอาจสะท้อนได้จากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น คุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง และเงินกองทุน อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT อาจถูกปรับลดลง หากธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนแอลงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์อื่น แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
UOB มีสัดส่วนการถือหุ้นใน UOBT ที่ 99.7% และ CIMB มีสัดส่วนการถือหุ้นใน CIMBT ที่ 93.7% ในขณะที่ ICBC มีสัดส่วนการถือหุ้นใน ICBCT ที่ 97.7% โดย ICBCT ถือหุ้นใน ICBCTL ที่ 99.99% และ กลุ่ม Maybank ถือหุ้น 83.5% ใน MBKET
UOBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 ในขณะที่ CIMBT อยู่ในอันดับที่ 10 และ ICBCT เป็นอันดับที่ 13
รายละเอียดของอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้:
UOBT:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bb+’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘1’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
CIMBT:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F3’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bb-’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA-(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (upper Tier 2) คงอันดับที่ ‘A(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (lower Tier 2) คงอันดับที่ ‘A+(tha)’
ICBCT:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
ICBCTL:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ค้ำประกันโดย ICBCT คงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘AAA(tha)’
-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
MBKET:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’