ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ด้านคุณภาพและมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟ โดยโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำหนองแค ซึ่งเป็นเส้นทางต้นน้ำ และโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์น้ำระโนด ซึ่งเป็นเส้นทางปลายน้ำ สามารถคว้ารางวัล TQC มาได้ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศตลอดห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นองค์กรชั้นนำของไทยที่มีการจัดการองค์กรครอบคลุมทุกมิติ สู่วิสัยทัศน์ การเป็นครัวของโลก
ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีนโยบายที่ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้ในองค์กร ถือเป็นการบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งระบบ สร้างการเรียนรู้และการพัฒนา ตลอดจนการสร้างความพึงพอใจ ทำให้ลูกค้ามีความผูกพันกับซีพีเอฟ ถือเป็นปัจจัยหลักของการนำธุรกิจสู่ความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ยังผลักดันให้คนในองค์กรมีพลังในการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ นับเป็นปัจจัยที่เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนบนพื้นฐานของจริยธรรมและธรรมาภิบาล
“สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดเป้าหมายจากระดับนโยบายไปยังพนักงานขององค์กร ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม และร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกัน ตั้งแต่ระบบงานขององค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การดูแลลูกค้า และการปฎิบัติต่อพนักงาน” ดร.สมบัติ กล่าว
ด้าน นายทรงพล ศรีรองเมือง รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานอาหารแปรรูปสัตว์น้ำ กล่าวว่า โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์น้ำระโนด นับเป็นโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำแห่งแรกของบริษัทได้รับรางวัล TQC ถือเป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรทุกคนที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จในวันนี้
นายทรงพล กล่าวอีกว่า หัวใจหลักที่ทำให้โรงงานสามารถคว้ารางวัลมาได้ คือ ความร่วมมือจากพลังของบุคลากรทั้ง 2,244 คน ที่เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ค่านิยมองค์กร คือซีพีเอฟเวย์ (CPF Way) โดยทุกคนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจร่วมกันพัฒนาองค์กรแบบบูรณาการ สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าให้กับลูกค้า และคำนึงถึงการสร้างสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคณะผู้บริหาร ช่วยให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและขับเคลื่อนไปอย่างมีระเบียบแบบแผน นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารภายในอย่างต่อเนื่องที่ช่วยตอบโจทย์ความสำเร็จด้านการบริหารงานของโรงงานในวันนี้ โดยให้ความสำคัญกับวิธีการสื่อสารแบบสองทาง หรือ two-way communication ด้วยการสร้าง Team Excellent แบ่งเป็น 15 หน่วยงานภายใน และ 3 หน่วยงานพันธมิตร เพื่อสอดประสานให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจแปรรูปกุ้งในภูมิภาคเอเชียจะประสบกับภาวะ EMS แต่ด้วยการที่โรงงานได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ TQC ทำให้สามารถประเมิน ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการเตรียมความพร้อมต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ปรากฎว่าผลการดำเนินงานดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความเสียหายทางธุรกิจลดน้อยลง” นายทรงพล กล่าว
ส่วน นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำซีพีเอฟหนองแค ถือเป็นต้นทางการผลิตของธุรกิจสัตว์น้ำ ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นทาง โดยนำเกณฑ์ TQC มาช่วยสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการ เกิดการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก
“หลังจากนำมาตรฐาน TQA มาปรับใช้ พบว่าลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น พนักงานมีความสุขกับบรรยากาศการทำงาน สุดท้ายผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีในราคาที่พึงพอใจ แม้จะเป็นแค่หนึ่งในฟันเฟืองของซีพีเอฟ แต่ก็บุคลากรทุกคนก็มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้” นายจรัส กล่าว