วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14.00 น. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมศักยภาพโรงงานมุ่งสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบผลิตสีเขียวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน) ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-206 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2557 ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์และความมุ่งมั่นในการร่วมดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้สำเร็จลุล่วง เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างสมดุลและยั่งยืน (Sustainable Development) โดยในปีนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการร่วม 414 โรงงาน
กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งโครงการ CSR-DIW ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรม นำมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO 26000 และได้รับการยอมรับจากสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับเกียรติบัตรแล้ว มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดความร่วมมือกันขององค์กรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความชำนาญ สามารถดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดผลกระทบที่เป็นรูปธรรมโดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยที่สุด
ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น กล่าวว่าถึงความสำเร็จของโครงการ ฯ ว่า “โครงการ CSR-DIW เริ่มต้นเมื่อปี 2551 จากโรงงานกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 20-30 โรงงาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของมาตรฐาน เอกสารคู่มือ ซึ่งมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนปัจจุบันโครงการ CSR-DIW มีโรงงานอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือและเข้าสู่กระบวนการนำมาตรฐาน CSR-DIW ไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการแล้ว รวมจำนวน 553 ราย และCSR-DIW for Beginner รวมกว่า 1,200 ราย รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการโรงงานที่ได้เกียรติบัตรจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน CSR-DIW จนสามารถพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตัวเองได้ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีโครงการดีๆ อีกนั่นคือ การก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งจะไม่ได้มองแค่ระดับปัจเจกชน โรงงานอุตสาหกรรมโรงงานเดียวแล้ว แต่จะมองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการ ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ให้มีความร่วมมือกัน ขับเคลื่อนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำรงอยู่ของวิถีสังคมและวัฒนธรรม ที่ประยุกต์ระบบการบริหารจัดการเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการติดตามดูแลพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนด้วย”