ดังนั้นการอาชีวะและเทคนิคศึกษา นับว่าเป็นกลไกที่ยอมรับกันว่าประสิทธิผลมากต่อการผลิตและพัฒนากำลังแรงงาน ที่ส่งผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน แต่ในประเทศไทยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนกำลังแรงงานระดับกลางที่มีทักษะฝีมือติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ฉะนั้นการส่งเสริมจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะการทำงานเฉพาะด้านจากระบบทวิภาคีจากทั้งสถานศึกษาและสถานประกอบการเป็นสำคัญ ยิ่งในยุคโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ โดยต้องรวมพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อปฏิรูปการจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยให้มีความเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป
รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย คนล่าสุด กล่าวว่า ปัญหาการพัฒนาบุคลากรทางด้านสมรรถนะทักษะทางวิชาชีพ ในขณะนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน ดังนั้นสถานศึกษาการอาชีวะและเทคนิคมีส่วนสำคัญมากที่จะผลิตบุคลากรด้านนี้ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
“อีกทั้งยังต้องปรับระบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องและรองรับที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 นี้ และพร้อมที่จะเพิ่มศักยภาพสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลกและสอดรับการสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งความรู้ประสบการณ์ และทักษะ อย่างเข้มข้น ทั้งต้องเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
...ทั้งยังเร่งส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานสากลกับต่างประเทศและกลุ่มอาเซียน นั่นก็คือการศึกษาระบบทวิภาคีที่ต้องไปเรียนรู้และฝึกงานจริงกับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการในลักษณะนี้ทั้งนั้น โดยในขณะนี้ได้ร่วมมือกับประเทศเยอรมนี ที่ถือว่าเป็นประเทศชั้นนำทางด้านนี้ ซึ่งระบบนี้จะเป็นระบบที่มาสนับสนุนและส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาประเภทที่ผู้เรียนเรียนจบแล้วมีงานทำมั่นคง มีรายได้สูง หากเรียนอาชีวะแล้วมีงานที่มั่นคงทำ มีรายได้สูง และมีภาพพจน์ว่าเป็นผู้ที่ได้เรียน ได้รับการฝึกอบรมมาดี ได้ทำงานที่คนทั่วๆ ไปทำไม่ได้ และอาจจะต้องสร้างภาพพจน์ในเรื่องการทำงานเพื่อสังคม การมีกิจกรรมร่วมกัน มีการสร้างสรรค์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมกันมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ต้องสร้างแรงจูงใจสมรรถนะและประสบการณ์ทำงานแก่ผู้เรียน และยังต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยบูรณาการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะแห่งความเป็นเลิศในสาขาเฉพาะนั้นๆ ทั้งการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งงานและเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
“ส่วนในเรื่อง กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ถึงแม้ในปี 2557 นั้น ได้ถูกตัดงบประมาณ แม้ขณะนี้ทางศธ.กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทางสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และพยายามหาทางสนับสนุนเรื่องกยศ.อย่างเต็มที่ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของเด็กที่อาจเสียโอกาสทางการศึกษา
...และจากการไม่ชำระหนี้ของผู้กู้ส่วนใหญ่ขาดจิตสำนึก ดังนั้นในวันนี้ เราจะต้องสร้างและส่งเสริมจิตสำนึกโดยการรับรู้ ด้วยว่าผู้กู้ยืมนั้นได้รับความช่วยเหลือจากสังคมจากงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นต้องตอบแทนสังคม โดยสอนให้มีจิตสำนึกว่าการกู้เงินกยศ. ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาง่าย ต้องใช้เงินอย่างมีคุณคุณค่าต่อการศึกษา และต้องนำมาชำระคืนตามเงื่อนไข คือจบไปแล้วต้องตอบแทนสังคม ด้วยการชำระหนี้เพื่อให้ผู้กู้รุ่นต่อไปได้กู้ต่อ” รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช กล่าวปิดท้าย