ในช่วง 3 เดือนแรกของปีพ.ศ.2557 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ประมาณ10,000 ยูนิต ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกและอยู่นอกเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ในเรื่องนี้ นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้กล่าวว่า “โครงการส่วนใหญ่ที่เปิดขายในช่วง 3 เดือนแรกของปีพ.ศ.2557 จะเป็นโครงการที่มีราคาไม่แพงโดยมีราคาขายเริ่มต้นที่ประมาณ 650,000 บาทต่อยูนิตสำหรับห้องแบบ 1 ห้องนอนขนาดประมาณ 22.5 ตารางเมตร หรือประมาณ 30,000 บาทต่อตารางเมตร ขึ้นไปจนถึงประมาณ 140,000 บาทต่อตารางเมตรในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในในขณะที่ยอดขายของโครงการที่เปิดขายใหม่เหล่านี้ค่อนข้างน้อยคืออยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มากนัก เพราะผู้ซื้อยังคงมีความกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ และผู้ประกอบการที่เปิดขายโครงการในช่วงนี้ก็ไม่มีการทำกิจกรรมทางการตลาดมากมายเหมือนช่วงก่อนหน้านี้นอกจากนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในแค่ไม่กี่โครงการ” นายสุรเชษฐ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในงานมหกรรมบ้าน และคอนโดในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้ประกอบการทุกรายต่างได้รับการตอบรับที่ดีเกินกว่าที่ผู้ประกอบการคาดหวัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีกำลังซื้ออยู่โดยปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มากระตุ้นยอดขายในงานคือ การที่ผู้ประกอบการมีการออกโปรโมชั่นมากระตุ้นยอดขายในงานกันอย่างคึกคักก็ตามนอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่มีแผนจะเปิดขายโครงการใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จากการที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายไประดับหนึ่ง คาดว่าจะช่วยให้ตลาดคอนโดมิเนียมกลับมามีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยจำนวนของคอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ยูนิต”
“คอนโดมิเนียมเหลือขาย หรือยูนิตที่ยังไม่มีการจอง และรอโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพมหานคร อีกทั้งการที่ธนาคารต่างๆ มีความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปีพ.ศ.2557 มีแนวโน้มลดลงเพราะยูนิตที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้จะกลับมาเป็นของผู้ประกอบการที่ต้องรับภาระในการขายต่อไป”นายสุรเชษฐ กล่าว อีกทั้งยูนิตที่ลูกค้าเริ่มไม่มั่นใจต่อสถานะทางการเงินของตนเองจนต้องยกเลิกยูนิตที่ตนเองจองไว้ หรือที่เรียกว่าทิ้งเงินดาวน์ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะกับยูนิตที่มีราคาไม่มากนักในโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับล่างที่มีราคาขายต่ำกว่า 60,000 บาทต่อตารางเมตร
“ตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกประเภทที่ยังคงมีการเปิดโครงการใหม่ๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีพ.ศ.2557 คือตลาดพื้นที่ค้าปลีกที่มีคอมมูนิตี้มอลล์ และศูนย์การค้าขนาดเล็กเปิดให้บริการใหม่ 2 โครงการโดยมีพื้นที่รวมกันประมาณ 6,500 ตารางเมตร และอีกหลายโครงการที่เลื่อนการเปิดให้บริการจากไตรมาสที่ 1 ออกไปในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและปัญหาการก่อสร้างล่าช้าทำให้ตลาดพื้นที่ค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงโดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม แต่หลังจากที่ได้รับการคืนพื้นที่แล้วศูนย์การค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาล้วนออกมาตรการ และจัดกิจกรรมทางการตลาดทันทีเพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม”
ในขณะที่ตลาดโรงแรมในกรุงเทพมหานครก็เริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นมีการทำประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2557 มีการคาดการณ์กันว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปอย่างน้อย350,000 คน ทำให้ประเทศขาดรายได้ไปมากกว่า 16,000 ล้านบาท แต่หลายฝ่ายมีการประเมินว่าอาจจะหายไปมากกว่า 1,000,000 คน ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่จะเข้าประเทศไทยมากกว่า 350,000 ล้านบาท โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเซียที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในย่านราชประสงค์ และปทุมวัน ซึ่งในช่วงที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณนี้ทำให้อัตราการเข้าพักในบริเวณนี้อยู่ที่ประมาณ 20% – 30% เท่านั้นซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมในบริเวณนี้ประมาณการณ์ว่ายอดอัตราการเข้าพักจะเพิ่มสูงขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งในส่วนของตลาดโรงแรมนี้
นางสาวณุกานต์ สุวัตธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ได้กล่าวถึงเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ”จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 มีจำนวน 4,494,168 คนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2556 ประมาณ 191,536 คน อาจจะลดลงไม่มากนักแต่มีนักท่องเที่ยวบางชาติที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือประมาณ 9% โดยเฉพาะชาวรัสเซียที่เพิ่มขึ้นถึง 23% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังคงมีนักท่องเที่ยวที่มั่นใจในสถานการณ์ของประเทศไทยแม้ว่าจะมีประเทศต่างๆรวมแล้วประมาณ 48 ประเทศได้แนะนำหรือว่าแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเรื่องสถานการณ์ในประเทศไทยนอกจากนี้เหตุการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพมหานครส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเลือกที่จะไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต หรือสมุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภูเก็ต ที่อัตราการเข้าพักของโรงแรมที่นั่นสูงมากคือประมาณ 80% เลยทีเดียวและจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในเรื่องการชุมนุมน้อยกว่า”ซึ่งในเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 27 ล้านคนคือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยหลายฝ่ายมั่นใจว่าถ้าทุกอย่างสามารถคลี่คลายได้เร็วจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากถึง 30 ล้านคน
นางสาวณุกานต์ กล่าวเพิ่มเติมถึงบรรยากาศการซื้อขายที่ดินในกรุงเทพมหานคร “ในส่วนของการซื้อ– ขายที่ดินในกรุงเทพมหานครยังคงมีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ที่ติดต่อกับบริษัทในช่วงนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนภายในประเทศที่คุ้นเคยกับสภาวะทางการเมืองของประเทศไทย และซื้อที่ดินไปเพื่อพัฒนาใช้เองหรือเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีพ.ศ.2557 บริษัทสามารถปิดการขายที่ดินมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเพื่อลงนามสัญญาจะซื้อจะขายอีกประมาณ 2,500 ล้าน ซึ่งทางบริษัทคาดว่าปีนี้จะมียอดขายที่ดินมากกว่า3,000 ล้านบาท โดยหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายมารวมกันที่สวนลุมพินี และรัฐบาลไม่ต่อพรก.ฉุกเฉิน เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาติดต่อที่บริษัทมากขึ้น”
“แม้ว่าทุกฝ่ายจะยังคงมีความหวังว่าปัญหาการเมืองจะสามารถหาทางออกที่ประนีประนอมกับทุกฝ่ายได้ในเร็ววัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การค้า และการลงทุนต่างๆ ที่น่าจะกลับมาเดินหน้าต่อไป เพราะทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างพยายามดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในประเทศของตนเองให้มากขึ้น ซึ่งถ้าการเมืองในประเทศไทยยังคงมีความไม่แน่นอนแบบนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสต่างๆ ไปให้แก่ประเทศอื่นๆ”นายสุรเชษฐ กล่าวสรุป